ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เสมือนหนึ่งว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมากระบวนการ "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ"ดอกผลผลิบานบนรากฐานที่แข็งแกร่ง ทว่าการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อวันที่18 ธ.ค.ที่ผ่านมากลับพบความ "สั่นคลอน"แทรกสอดอยู่ในรายละเอียด

เริ่มตั้งแต่เปิดการประชุม ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า เรื่องการรักษาพยาบาลมีหน่วยงานรัฐคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงควรสร้างกระบวนการด้านพฤติกรรมของประชาชนมากกว่า

ถอดรหัสจากถ้อยแถลงนัยว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดำรง "บทบาท"ผิดฝาผิดตัวอยู่...หรือไม่ ?

ต่อเนื่องด้วยเวที "รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล สำนักเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สะท้อนการทำงานของกระบวนการสมัชชาอย่างตรงไปตรงมา

"ที่ผ่านมาไม่ปรากฏกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับชาติ ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้เนื้อหาของธรรมนูญสุขภาพยังกว้างขวางครอบจักรวาลมากเกินไป การถ่ายทอดความคิดจึงไม่ชัด การตีความผิดพลาดผู้นำไปปฏิบัติไม่เข้าใจ เป็นเหตุให้การปฏิบัติมีเพียงแต่การทำกิจกรรมเท่านั้น"นพ.ไพบูลย์ ให้ภาพการทำงานที่ผ่านมา

นพ.ไพบูลย์ ระบุอีกว่า ในอนาคตการจัดทำธรรมนูญสุขภาพหรือข้อตกลงของชุมชน สามารถกระทำได้เองโดยชุมชน ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามาขั้นกลางกล่าวคือไม่ใช่ใครอยากจัดทำธรรมนูญสุขภาพก็ต้องวิ่งมาหาหน่วยงานนี้ เพราะธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

แปลความหมายตรงไปตรงมา แน่นอนว่าระยะ "ตั้งไข่"สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีความจำเป็น แต่ในอนาคต...ตรงกันข้าม

สอดคล้องกับที่ ชาติวัฒน์ ร่วมสุข คณะทำงานปฏิรูปจังหวัดอำนาจเจริญ ยอมรับว่าได้ใช้กระบวนการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 2553 ได้สรุปบทเรียนแล้วพบว่าปัญหาในพื้นที่ไม่ได้ลดน้อยลงแม้แต่น้อย แสดงว่ากระบวนการที่ใช้ล้มเหลว ขบวนที่ตั้งขึ้นยังไม่สามารถเข้าถึงรากฐานของปัญหาได้

"ที่ผ่านมาเราทำงานกันเพื่อให้บรรลุโครงการหรือกิจกรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้มองรากฐานของปัญหา"แกนนำภาคประชาชนระบุ

เวทีเสวนาหัวข้อ "ธรรมนูญภาคประชาชนสู่การปฏิรูปประเทศไทย" ความเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือให้น้ำหนักกับ "การจัดการตัวเอง"โดยชุมชน เนื่องจากมองเห็นตรงกันว่าการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง และวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล ไม่สามารถคลี่คลายความเดือดร้อนในท้องถิ่นได้

สำหรับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 มีวาระพิจารณาทั้งสิ้น 11 ประเด็น โดยการประชุมวันแรกมีข้อเสนอที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ วาระการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีการเสนอให้เพิ่มบทลงโทษทางอาญาแก่เจ้าของโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด

วาระการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวลความเห็นส่วนใหญ่แสดงความกังวลถึงประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ทำเฉพาะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรแก้กฎหมายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ต้องทำอีไอเอเช่นกัน เนื่องจากมีผู้ประกอบการอาศัยช่องว่างของกฎหมายหลีกเลี่ยงการทำอีไอเอ โดยเสนอขอสร้างโรงไฟฟ้าที่มีขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กำหนดระยะเหมาะสมให้ชัดเจนว่าต้องห่างจากชุมชนเท่าใด เช่น 3-5 กิโลเมตร รวมทั้งให้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ โดยเสนอให้ถอนใบอนุญาต และผู้เสียหายสามารถฟ้องแพ่งอาญาได้

วาระการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ประชุมให้จัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้สังคายนาความรู้ใหม่และภูมิปัญญาชาวบ้านให้ชัดเจน จัดทำวิจัยโดยดึงชาวบ้านเข้ามาร่วม

นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาหมอกควันมีเพียงภาครัฐที่เป็นแม่งาน ภาคประชาชนยังไม่ถูกนำเข้ามาร่วมแก้ปัญหาจึงเสนอให้เพิ่มความสำคัญแก่ภาคประชาชนในทุกระดับ

ขณะนี้องค์ความรู้ด้านการจัดการหมอกควันและไฟป่ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ การทำงานวิจัยต้องดึงภาคประชาชนเข้าร่วมเช่น ชาวบ้านบางรายเชื่อว่าการเผาทำให้เห็ดเผาะขึ้นในพื้นที่มาก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการปรับแก้กฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวข้องป่าชุมชน โฉนดชุมชน ที่ผ่านมาภาครัฐมองว่าป่าเป็นของรัฐ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะจะรอให้รัฐเข้ามาดำเนินการเพียงอย่างเดียวคงไม่ทันท่วงที ในขณะนี้ชาวบ้านก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต

นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ควรปรับแก้โครงสร้างการแก้ปัญหา โดยปรับเปลี่ยนประธานคณะกรรมการจากรัฐมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติควรให้ปรับเปลี่ยนการแก้ปัญหาในรูปแบบถาวร มีการติดตามแก้ปัญหาและป้องกันในระยะยาว

ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ก่อนนำข้อสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 ธันวาคม 2555