ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและตัวแทนฝ่ายท้องถิ่นประชุมหารือแนวทางดำเนินการคุ้มครองความมั่นคงสิทธิการรักษาพยาบาล สำหรับข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม  พร้อม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วมประชุมหาข้อสรุปร่วมกัน พร้อมเดินหน้าการตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาล

"ก่อนหน้านี้มีการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารของสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์ปลัดเทศบาลฯ ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกัน เห็นด้วยและเดินหน้าจัดตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น เพียงแต่การลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เป็นหลักการกว้างจนเกินไป ซึ่งขาดรายละเอียดที่ชัดเจน และอาจมีปัญหาในด้านข้อมูลเชิงลึก หากขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราจึงเห็นว่า สปสช.ควรต้องมีรายละเอียดแนบท้ายบันทึกข้อตกลงร่วมกันให้ชัดเจนกว่านี้ เช่น จำนวนเงินที่หักจากท้องถิ่น, ด้านบริการ, ที่มาของคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งผมเสนอขอความเห็นที่ประชุมให้มีคณะทำงานชุดย่อยๆ โดยมีตัวแทนฝ่ายท้องถิ่น ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ นักวิชาการ ด้านสาธารณสุขของท้องถิ่นและตัวแทนจาก สปสช.เข้าร่วมพิจารณารายละเอียดในบันทึกแนบท้ายเอ็มโอยู และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนลงนามร่วมกัน ซึ่งน่าจะมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ สปสช.จะจัดทำร่างบันทึกแนบท้าย ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ ต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วก่อนลงนามเอ็มโอยู โดยหลักการพวกเราต้องได้สิทธิไม่ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนอย่างแน่นอน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนมกราคม 2556 ลงนามเอ็มโอยูได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และใช้ทันในปีงบประมาณ 2557"

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 ธันวาคม 2555