ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 

เพียงไม่ถึง 2 เดือน หลังจากที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเจ้าตัวได้ประกาศนโยบายปฏิรูป สธ.ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดูเหมือนว่าแนวทางดังกล่าวเริ่มชัดเจน...

โดยเฉพาะประเด็นการแยกระหว่าง "ผู้ให้บริการ" และ "ผู้ซื้อบริการ" กล่าวคือ ปัจจุบัน สธ.ทำหน้าที่ทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ นโยบาย ขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ดูแลหน่วยงานให้บริการ หรือโรงพยาบาลในสังกัดหลายพันแห่ง ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ซื้อบริการ หรือจ่ายเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการในการให้บริการประชาชนตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค จากการบริหารดังกล่าวทำให้ถูกมองว่า ลักษณะนี้เป็นการทำงานที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียได้ ไม่ได้แยกส่วนชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปรูปแบบการทำงานใหม่

หลักการ คือให้ สธ.เป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ต่างๆ แต่หน้าที่ในการบริหารจัดการหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลในสังกัด จะกระจายอำนาจไปยังแต่ละเขตพื้นที่แบ่งเป็น 12 เขตพื้นที่บริการ เฉลี่ยเขตละ 5-8 จังหวัด ซึ่งจะมีผู้ตรวจราชการ สธ. ทำหน้าที่ดูแล แต่จะให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ ส่วน สปสช.ยังเป็นผู้ซื้อบริการ แต่การกำหนดนโยบายต่างๆ ต้องร่วมกับ สธ. นั่นหมายความว่า อำนาจจะไม่เบ็ดเสร็จเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เท่านั้น แต่จะต้องมีผู้บริหาร สธ. ร่วมคิดร่วมทำด้วย

ล่าสุดเห็นได้จากกรณีการจัดทำแผนด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการลดปัจจัยเสี่ยงก่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน หากลดพฤติกรรมเสี่ยงจะลดอัตราการเกิดโรคได้มาก โดยเดิมที สปสช.จะเป็นผู้บริหารงบประมาณดังกล่าว และกระจายให้หน่วยบริการโดยตรง แต่จากการปฏิรูปครั้งนี้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ประกาศชัดเจนว่า จากนี้ไปจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเน้นในเรื่องการกำหนดนโยบาย วางแผนการดำเนินการตามเป้า แต่ผู้ปฏิบัติจะยังเป็นหน่วยบริการ ซึ่งงบฯจะลงไปที่หน่วยบริการโดยตรง ไม่มีกองไว้ที่ สธ. จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการดึงอำนาจการบริหารการเงินแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มในคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพ อีก 1 ชุด ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 10 ปี โดยมีผู้แทนของคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพ เป็นประธาน และมีผู้แทนของ สธ. กับ สปสช. เป็นเลขานุการร่วมกัน ทำหน้าที่กำหนดกรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคระดับชาติ และมีคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคระดับเขต มีผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธาน ผู้แทนจากบุคลากรสาธารณสุข และ สปสช. เป็นคณะกรรมการบริหารร่วมกัน ซึ่งในปี 2556 คณะอนุกรรมการ สปสช.ได้เห็นชอบให้ สธ.ปรับเกลี่ยงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำนวนประมาณ 6,000 ล้านกว่าบาท จัดส่งให้เครือข่ายบริการเขตละประมาณ 500 ล้านบาท

ประเด็นคือ การทำลักษณะนี้จะส่งผลดีในแง่ของการบริหารที่ชัดเจนขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจริง หรือมีอย่างอื่นซ่อนเร้น...

เรื่องนี้แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า โดยภาพรวมแนวคิดการแบ่งสัดส่วนลักษณะนี้ถือว่าดี แต่หลายคนก็มองว่าการบริหารรูปแบบดังกล่าว ถึงแม้งบประมาณจะไม่ได้ไปกองที่ สธ. โดยยังคงกระจายไปยังหน่วยบริการเหมือนเดิม แต่ปัญหาคือ จะเป็นการล้วงลูกการทำงานของ บอร์ด สปสช.หรือไม่ เนื่องจากหากพิจารณาดีๆ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการบอร์ด สปสช. ก็มีคำถามว่ามีความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจ ขณะที่ภาคประชาชนแทบไม่มีเสียงในการเสนอความเห็นเหมือนครั้งอดีต ที่สำคัญล่าสุดยังเตรียมตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มอีก 2 คน เพื่อทำหน้าที่เน้นการบริหารการจัดการ จากปัจจุบันมีอยู่ 3 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหา ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นการเลือกคนนอกหรือไม่

"ที่สำคัญรัฐบาลยังมีนโยบายแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัว 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2558 โดยนับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 10 ปี เหลือเพียงรายหัวละ 2,755.60 บาทต่อคนต่อปี โดยจากนโยบายต่างๆ เรียกว่าเป็นการลดอำนาจการโตขึ้นของ สปสช. และเป็นการเข้ามาคุมกองทุนมากขึ้น ซึ่งในอนาคตยังต้องจับตาว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่มีแนวโน้มและกังวลไม่ได้อยู่ที่การร่วมมือบริหารงบส่งเสริมและป้องกันโรคระหว่าง สธ.และ สปสช. แต่อยู่ที่ประเด็นการจัดสรรงบฯ มากกว่า โดยหากสุดท้ายบอร์ด สปสช. มีนโยบายให้ความสำคัญกับภาคเอกชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยิ่งใกล้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 หรือจะเป็นนโยบายเมดิคัล ฮับ ทั้งหมดจะเอื้อประโยชน์กับภาคเอกชน ซึ่งตรงนี้ต้องจับตาว่า ภาคประชาชนที่อยู่ในบอร์ด สปสช.จะทำอย่างไร เพราะปัจจุบันแทบไม่มีอำนาจต่อรอง" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสัดส่วนภาคประชาชน บอร์ด สปสช. กล่าวว่า ประเด็นการร่วมมือในเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพและการป้องกัน ต้องระวังมาก เพราะ สธ.ต้องมองว่ามีความพร้อมมีประสบการณ์หรือไม่ และ สปสช.ก็ต้องจัดสรรให้ถูก เนื่องจากที่ผ่านมาจะให้งบแลกกับผลงาน จึงต้องมาพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย อย่ามองเพียงว่าต้องการนำงบฯที่ สปสช.บริหารมาอยู่ในอำนาจของ สธ. เพราะไม่ช่วยอะไร แต่ต้องทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความขัดแย้งไม่จบสิ้น รวมทั้งจะมีการแทรกแซงการทำงานของ สปสช.อีก โดยเฉพาะประเด็นการเลือกรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม ตรงนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบว่า ตกลงเป็น "คนนอก" หรือ "คนใน"

งานนี้คงไม่ใช่แค่ปฏิรูป สธ.อย่างเดียว แต่สะเทือนไปถึง สปสช.ด้วย

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์  email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 ธันวาคม 2555