ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตอกย้ำถึงหลุมพรางในการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (เอฟทีเอ ไทย-อียู) อีกคำรบหนึ่ง

คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหนังสือลงวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาถึง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และ ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อเสนอ"ทางเลือก"เชิงนโยบาย เพื่อป้องกันผลกระทบจากการผูกขาดยาเชิงพาณิชย์

เอกสารระบุถึงทางเลือกที่ดีที่สุดคือต้องไม่รับเงื่อนไขที่เกินไปกว่าความตกลงมาตรการยืดหยุ่นในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์ โดยต้องไม่หลงเชื่อว่าการเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรจะทำให้เกิดการพัฒนายาใหม่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยมากขึ้น

เนื่องจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าหลังจากขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาตั้งแต่ปี 2535 ไม่ได้เกิดผลที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ผลที่เกิดขึ้นมีเพียงแต่ราคายาใหม่ที่แพงขึ้น มีการผูกขาดนานขึ้น คน

ไทยต้องพึ่งยานำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นกว่า 2 เท่า ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถรับภาระงบประมาณได้

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเจรจาการค้าเสรีโดยมีข้อเสนอทริปส์ผนวกรัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาให้แล้วเสร็จก่อนการเจรจาจะมีผล

สำหรับมาตรการเยียวยา อาทิจัดสรรงบประมาณให้กับระบบหลักประกันสุขภาพในอัตราที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าอัตราเพิ่มของมูลค่ายาที่จะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอ

นอกจากนี้ ให้เก็บค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่า 5% ของมูลค่าการจำหน่ายยาที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อนำมาตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบยา โดยให้มีการตรา พ.ร.บ.กองทุนฯก่อนการเจรจาจะเริ่มต้น

พร้อมกันนี้ ให้มีการควบคุมราคายาที่มีสิทธิบัตรและตั้งคณะกรรมการควบคุมราคายาที่มีสิทธิบัตร ซึ่งการเจรจาเอฟทีเอจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมราคายา

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีข้อเสนอ 3 ประการ ได้แก่ 1.ต้องทำให้การขยายระยะเวลาเหล่านั้นสั้นที่สุด เนื่องจากระยะเวลาการขยายยิ่งนานเท่าใด จะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาและสุขภาพและการจำกัดการพัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศมากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญต้องระมัดระวังในกรณีของData Exclusivity ซึ่งจะเป็นการให้ระยะเวลาสิทธิผูกขาดทางการพาณิชย์กับยาทั้งที่มีและไม่มีสิทธิบัตร โดยเฉพาะยาที่ไม่มีสิทธิบัตรจะได้ระยะเวลาการผูกขาดเต็มจำนวนโดยปริยาย

2.การชดเชยเวลาที่เกิดจากความล่าช้าต่างๆ ควรอนุญาตเป็นกรณีๆ ไปเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการ

3.การใช้มาตรการลงโทษต่อการเรียกร้องที่ไม่เป็นจริง ในกรณีที่ผู้เรียกร้องมีเจตนาให้การดำเนินการเพื่อขออนุญาตจำหน่ายยาสามัญล่าช้าออกไป โดยผู้ร้องจะต้องชดเชยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากความล่าช้าของการผลิตต่อผู้ผลิตยาสามัญและการเข้าถึงยาของประชาชน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 ธันวาคม 2555