ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 

เมื่อกล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะทำให้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ สูญเสียทรัพย์สิน หรือแม้แต่อุบัติเหตุเฉี่ยวชนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เสียเวลาเช่นกัน

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535  กำหนดให้เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยสำหรับผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถ หรือผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ รถที่ต้องเอาประกันภัย ได้แก่ รถทุกประเภท เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง ผู้ประสบภัย จากรถทุกคน ไม่ว่าผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร เจ้าของรถ คนเดินถนนล้วนได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น ไม่คำนึงว่าผู้ประสบภัยนั้นจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่ประสบภัยจากรถ วัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย ให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นอย่างทันท่วงที เป็นการแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบครัว และช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในด้านสวัสดิการสงเคราะห์แก่ผู้ประสบภัยจากรถ

ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด และไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ เท่าจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับความเสียหายต่อร่างกาย 35,000 บาท สำหรับความเสียหายต่อร่างกายในกรณีการสูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร และ 35,000 บาท สำหรับความ เสียหายต่อชีวิต

นอกจากได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535 ผู้ประสบภัยยังมีสิทธิได้รับ ค่าสินไหมทดแทน กรณีได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเสียหาย เบื้องต้นจะไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน กรณีที่เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับเงิน 200,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยที่เข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน เงินคุ้มครองสูงสุด ไม่เกิน 204,000 บาทต่อหนึ่งคน

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ที่ต้องการให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที หรือได้รับการชดใช้เร่งด่วนในกรณีเสียชีวิต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้ประสบภัย ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากที่ใดได้ ตามที่กำหนดในพ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ ความผิด เช่น เจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้เอาประกันความเสียหายตามกฎหมายกำหนด และไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย หรือจ่ายค่าเสียหาย เบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไม่ครบจำนวน หรือในขณะที่ เกิดเหตุ รถที่ก่อให้ความเสียหายมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เพราะรถถูกลักหรือปล้นไปและเจ้าของรถได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว

แม้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จะเป็นหลักประกันแก่ผู้ประสบภัยว่าจะได้รับการเยียวยา หากไม่สามารถ เรียกร้องค่าเสียหายจากที่ใดได้ แต่ปรากฏว่า ผู้ประสบภัยส่วนมากจะไม่ทำการเบิกจ่ายกับกองทุนผู้ประสบภัย เพื่อนำมาเป็นค่ารักษาพยาบาล มักจะใช้สิทธิกองทุนหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการแทน ทำให้สามกองทุนนี้ ต้องขาดทุนจากการดูแลผู้ประสบภัยมากกว่า ห้าพันล้านบาทต่อปี อาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วนไม่รู้ว่าตนสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หรือการใช้สิทธิไม่ง่าย เพราะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม เช่น สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน สำเนากรมธรรม์ประกันภัย สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าของรถ ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมยังมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนในรูปตัวเงิน เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้ เงินสงเคราะห์กรณีตาย ย่อมทำให้จำนวนเงินของกองทุนประกันสังคมลดลงไป แต่กลับกัน ผู้ประสบภัยส่วนมากมักจะไม่ใช้สิทธิจากกองทุนผู้ประสบภัยทั้งๆ ที่ตนมีสิทธิ

ดูเหมือนว่ากองทุนประกันสังคมช่วยอุ้มกองทุนผู้ประสบภัยอย่างอ้อมๆ ซึ่งกองทุนประกันสังคมก็มีภาระมากมายอยู่แล้ว เพราะจำนวนประชากรที่ทำงานและเจ็บป่วย ย่อมมีมากกว่าผู้ประสบภัยจากรถ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงมีแนวความคิดว่า กองทุนผู้ประสบภัยเฉพาะในส่วนค่ารักษาพยาบาล ควรจะเป็นกองทุนที่อยู่ในระบบสาธารณสุข ในขณะที่กองทุนทดแทนกรณีพิการหรือเสียชีวิต จะเป็นไปตามเดิม โดยมีหลักการให้ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาพยาบาลทันที

ปัญหานี้ แม้จะเป็นปัญหาการบริหารจัดการภายในระหว่างองค์กรต่างๆ ด้วยกัน แต่ก็จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้รับประโยชน์และความคุ้มครอง อย่างเต็มที่

ผู้เขียน : รุจิระ บุนนาค email : rujira_bunnag@yahoo.com , Twitter: @RujiraBunnag

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 28 ธันวาคม 2555