ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลยังคงเดินหน้าต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงในปี 2556 นี้ แม้ว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาวิธีการปรับลด งบประมาณรักษาพยาบาลหลากหลายรูปแบบ ได้ถูกนำมาใช้ แต่ทว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็ไม่ลดลงอยู่ระดับที่น่าพอใจ แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดยพบว่า งบประมาณปี 2556 รวม 3 กองทุนสุขภาพหลักของประเทศ  ยังแตะที่สองแสนล้านบาท แยกเป็น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 109,718,581,300 บาท หรือ 2,755.60  ต่อคนต่อปี กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม 27,500 ล้านบาท หรือ 2,500 บาทต่อคนต่อปี และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคนต่อปี  เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณ 3 กองทุน ค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาลต่อคนต่อปีพบว่า "กองทุนสวัสดิการข้าราชการ" เป็นระบบที่มีค่ารักษาพยาบาลมากที่สุด อัตราค่าใช้จ่ายสูงถึง 3-4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบอีก 2 กองทุน โดยดูแลข้าราชการและคนครอบครัวเพียง 5 ล้านคน ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชากรถึง 48 ล้านคน กองทุนประกันสังคมดูแลผู้ประกันตน 11 ล้านคน ด้วยเหตุนี้การควบคุม ค่าใช้จ่ายที่ผ่านมา รัฐบาลจึงมุ่งไปยังระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นหลัก โดยมติ ครม.วันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางเร่งควบคุม โดยได้ทำมาตรการ 8 ขั้น เพื่อ ลดค่าใช้จ่าย

2 ปีที่ผ่านมาจึงเห็นมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการถูกประกาศใช้ต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มข้าราชการและข้าราชการเกษียณ ตั้งแต่การห้ามเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 9 กลุ่มยาเป้าหมายที่ถูก เบิกจ่ายมากที่สุด เริ่มจากยาข้อเข่าเสื่อม (กลูโคซามีน ซัลเฟต) ที่ขณะนี้ยอดการสั่งจ่ายเหลือเพียง 10 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เคยสูงถึง 600 ล้านบาทต่อปี การขอความ ร่วมมือจากโรงพยาบาลและแพทย์ให้เน้นใช้ยาสามัญแทนการใช้ยานอกบัญชี หากสั่งจ่ายยานอกบัญชีต้องระบุเหตุผลและความจำเป็น และการห้ามเบิกจ่ายตรง เป็นต้น

และในปี 2556 นี้ กรมบัญชีกลางเตรียมประกาศเดินหน้ามาตรการควบคุม ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 4 ขั้น มุ่ง ควบคุมการเบิกจ่ายปีหน้าให้อยู่ภายใน งบประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถูกปรับลดจากปี 2555 ร่วม 1,844 ล้านบาทโดยเดินหน้าจำกัดเบิกจ่ายยานอกบัญชีกลุ่มเป้าหมาย7 รายการที่เหลือ พร้อมจัดทำเงื่อนไขการเบิกจ่ายยานอกบัญชีเหล่านี้ในกรณีผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ และการจัดทำระบบการตรวจสอบ       การเบิกจ่ายยานอกบัญชีราคาแพง รวมไปถึงการจัดทำการเบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยนอกแบบเหมาจ่าย     การเดินหน้ามาตรการควบคุมการเบิกจ่ายยา   ระบบสวัสดิการข้าราชการถูกมองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิ์การรักษาของข้าราชการทั้งที่ ยังทำงานในระบบและที่เกษียณอายุราชการแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่รัฐให้สัญญาการดูแลซึ่งแลกมาด้วยการรับเงินเดือนและค่าตอบแทนน้อยกว่าเอกชน จึงมีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองถึงความไม่เป็นธรรมของประกาศกรมบัญชีกลางดังกล่าว ทั้งมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะการทุจริตเบิกจ่ายยาเกิดจากคนส่วนน้อย ท่ามกลางการเดินหน้านโยบายเพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐบาล แต่ด้วยมาตรการที่กรมบัญชีกลางดำเนินการมานี้ ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วน "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" มีการควบคุมงบประมาณเช่นกัน โดยตรึงงบประมาณรักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายหัวให้อยู่ในอัตราคงที่เป็นเวลา 3 ปี คือระหว่างปี 2555-2557 ในอัตรา 2,755.60 บาท ภายหลังจากที่มีการขยับเพิ่มงบต่อเนื่องในทุกปี

ทั้งนี้แม้ว่าจะไม่มีการลดงบประมาณลง แต่การตรึงงบประมาณในรูปแบบดังกล่าวถูกมองว่าเปรียบเหมือนกับเป็นการปรับลดงบประมาณเช่นกัน เพราะด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ การขยับขึ้นของค่ายาและเวชภัณฑ์ ส่งผลให้ ค่าของเม็ดเงินงบประมาณที่ได้รับนั้นลดลง

ประกอบกับเพราะสถานการณ์น้ำท่วมปลายปี 2554 ทำให้งบปี 2555 ถูกปรับ ลดลง ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งรวมถึงกลุ่มโรงเรียนแพทย์ที่มีการรวมตัว เพื่อจัดทำตัวเลขเพื่อขอปรับเพิ่มเติมงบประมาณในฐานะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่ต้องแบกรับภาระรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังดำเนินนโยบายตรึงงบประมาณนี้ ได้มีประกาศปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนมากขึ้น การเกลี่ยงบประมาณขาลง รวมไปการบริหารจัดการงบประมาณโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลของรายได้และรายจ่าย

โดยในปี 2556 นับเป็นปีที่ 2 ของการตรึงงบประมาณตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งอาจได้เห็นผลกระทบมากขึ้น จึงต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์เงินของสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2555 ช่วงสามไตรมาสมีการรายงานโรงพยาบาลขาดทุน 496 แห่ง จาก 841 แห่ง เป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานลงไปดูปัญหากลุ่มโรงพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุนเรื้อรังเข้าขั้นวิกฤติเพื่อ ช่วยเหลือ

ขณะที่ "กองทุนประกันสังคม" นับเป็นระบบที่มีการแทรกแซงและควบคุมค่าใช้จ่ายจากภาครัฐน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นกองทุนระบบร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้าง โดยมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้ดูแล งบการรักษาพยาบาลของกลุ่มแรงงานจึงเป็นภาระต่อภาครัฐไม่มาก ต่างจากระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่รัฐบาลต้องนำงบประมาณอุดหนุน 100% ประกอบกับกองทุนประกันสังคมไม่มีเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในระบบนี้ไม่เป็นปัญหา ทั้งในปี 2556 นี้ ได้เพิ่มงบประมาณกองทุนรักษาพยาบาลเป็น 27,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาได้มีการ เรียกร้องให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินรักษาพยาบาลจากผู้ประกันตนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ โดยขอรัฐบาลให้สิทธิรักษาฟรีกับผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิในอีก 2 ระบบ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณของรัฐบาลที่นำมาสู่มาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ประเด็นดังกล่าวคงยากที่จะเป็นไปได้

ก่อนสิ้นปี 2555 เพียง 2 เดือน  มีการปรับ ครม.โดยแต่งตั้งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่  "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์" ฐานะมือดี ที่ถูกหมายมั่นให้ดำเนินการควบคุมค่ารักษาพยาบาล 3 กองทุน หลังจากที่คุมบังเหียนอยู่เบื้องหลังในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในช่วงการทำงานระยะเวลาสั้นๆ ได้เดินหน้ามาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายไปแล้ว ผ่านคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งการเดินหน้าต่อรองราคายา การจัดระบบบริหารยาร่วมกันของโรงพยาบาล การจัดทำแนวเวชปฏิบัติ และข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีราคาแพง

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการดึงกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ในส่วนการรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อนำมาชดเชยการรักษาพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุบนถนนของทั้ง 3 กองทุน ราว 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง เนื่องจากที่ผ่านมาการเบิกจ่ายกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยน้อยมาก เพราะความยุ่งยากเรื่องระเบียบและขั้นตอน

ทำให้ 3 กองทุนต้องตกเป็น ผู้แบกรับค่ารักษาพยาบาลแทน  ฉะนั้นในปี 2556 นี้ จึงเป็นอีกปีหนึ่ง ที่ต้องติดตามการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของประเทศ เชื่อว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างเข้มข้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 มกราคม 2556