ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตลอดระยะเวลาหลายปีของการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการของ "ลูกจ้างชั่วคราว สายวิชาชีพ" กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีจำนวนถึง 30,188 คน จากลูกจ้างชั่วคราว ในระบบ 140,000 คน ที่กระจายทำงานอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 841 แห่ง กลุ่มพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวนับเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีจำนวนมากที่สุด และได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีพยาบาลวิชาชีพที่รอการบรรจุราชการ ถึง 17,000 คน

ด้วยเหตุนี้จึงได้รวมตัวเป็น "เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข" และออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการจากรัฐบาล หลังจากที่ ต้องทำงานมาอย่างยาวนานแต่กลับขาด ทั้งสวัสดิการ ความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การเงิน เกิดความลักลั่นในที่ทำงาน ที่ผ่านมาได้เดินทางประท้วงยังกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ทำให้เมื่อเดือนมิถุนายน 2555  ที่ผ่านมา จึงเห็นภาพ "ม็อบชุดขาว" ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกว่า 2,000 คน รวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่มีม็อบสายวิชาชีพด้านสาธารณสุขออกโรงกดดันรัฐบาล ก่อนรวมตัวกันอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2555 หลังจากยังไม่ได้รับคำตอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ก่อนที่เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพจะเดินหน้ามาตรการขั้นเด็ดขาด "นัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ" 1-3 มกราคม 2556 ตามที่ประกาศไว้นั้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบ ต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดระยะยาว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งนำเสนอแผนเพื่อแก้ไขปัญหากำลังคนในระบบ โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และนำเข้า ครม. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา แม้ว่าตามแผนแก้ไขปัญหากำลังคนกระทรวงสาธารณสุข จะไม่สามารถบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กับลูกจ้างชั่วคราว  21 สายวิชาชีพทั้งหมดได้ เนื่องจากได้รับอนุมัติตำแหน่งบรรจุเพียง 22,641 อัตรา หรือประมาณ 75% แต่นับว่าเป็นปีที่การแก้ไขปัญหากำลังคนในระบบสาธารณสุขมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากที่มีความพยายามผลักดันมาอย่างยาวนาน โดยรัฐบาลจะทยอยบรรจุในช่วง 2 ปี ตั้งแต่ 2556-2557 ครั้งละ 7,547 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลือให้บรรจุเป็น "พนักงานกระทรวงสาธารณสุข" (พนักงาน ก.สธ.) แทน  โดยมีการปรับเงินเดือนและสิทธิสวัสดิการให้ใกล้เคียงกับผู้ที่บรรจุเป็นข้าราชการ  ทางสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลวิชาชีพ และเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว  กระทรวงสาธารณสุข ต่างยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว    สำหรับสิทธิและสวัสดิการพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับเพิ่ม ได้แก่  การเพิ่มเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าราชการ 1.2 เท่า การกำหนดระเบียบการลาคล้ายคลึงกับระเบียบราชการ โดยเฉพาะการให้สิทธิ ลาเพื่อเรียนต่อ รวมไปถึงการให้โอกาสความก้าวหน้าเพื่อขึ้นสู่ระดับบริหาร  สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม และให้สิทธิ 30 บาท พลัส กับพ่อแม่และคนในครอบครัว ส่วนบำเหน็จบำนาญจะทดแทนด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบร่วมในอัตราที่เท่ากัน

ทั้งนี้ การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาการลาออกของบุคลากรสายวิชาชีพในระบบได้เท่านั้น แต่ยังเป็น การช่วยลดภาระเงินบำรุงของโรงพยาบาลลงไปได้บางส่วน เนื่องจากจะมีงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายในส่วนเงินเดือนและสวัสดิการของผู้ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ส่วนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขให้ยังคงใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจ่ายเช่นเดิม ที่รวมไปถึงภาระของเงินเดือนและสวัสดิการที่เพิ่มเติมขึ้น

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะด้วยระบบที่ยังขาดแคลนกำลังคนเพื่อให้เพียงพอต่อ การบริการประชาชน การว่าจ้างบุคลากรวิชาชีพ   หลังจากนี้จะเป็นการบรรจุในตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จึงยังคงเป็นภาระค่าใช้จ่ายเงินบำรุงของโรงพยาบาล เช่นเดิม ซ้ำอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะตามแผนผลิตกำลังคนกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556-2560 ได้ตั้งเป้าผลิตบุคลากรเพื่อให้เพียงพอต่อการบริการ อาทิ แพทย์ 11,007 คน ทันตแพทย์ 2,989 คน เภสัชกร 334 คน พยาบาลวิชาชีพ 17,230 คน นักเทคนิคการแพทย์ 995 คน และนักกายภาพบำบัด 2,548 คน นั่นหมายถึงบุคลากรที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม หากบรรจุเป็นพนักงาน กระทรวงสาธารณสุข นั่นหมายถึงภาระเงินบำรุงของโรงพยาบาล ที่ต้องแบกรับอีกเช่นเดิม   เมื่อดูรายงานสถานการณ์การเงิน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  ปี 2555 ช่วง 3 ไตรมาสแรก มีโรงพยาบาล ที่ประสบภาวะขาดทุนถึง 496 แห่ง รวมเป็นเงิน 4,505 ล้านบาท ขณะที่เงินบำรุงสุทธิ ลดลงอยู่ที่ 9,441 ล้านบาท จากที่ไตรมาสสองอยู่ที่ 16,531 ล้านบาท เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติใกล้เคียงกับปี 2553 ในระยะยาว หากไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหา หรือการเพิ่มเติมงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อลงไปสนับสนุน เชื่อว่าปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนย่อมเกิดขึ้นซ้ำอีกแน่นอน

ก่อนหน้านี้ แม้ว่าทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะออกมาการันตีโดยระบุว่า งบประมาณโรงพยาบาลส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยงบประมาณจากรัฐบาล  หลังจากที่มีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราว ส่วนหนึ่งไปเป็นข้าราชการแล้ว ทำให้โรงพยาบาลมีงบประมาณเหลือเพิ่มเติมในส่วนนี้จากเดิมที่ต้องแบกภาระไว้  สำหรับในส่วนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่มีการปรับเงินเดือนและสวัสดิการเพิ่ม รวมถึงบุคลากรสายวิชาชีพที่จบใหม่ที่ในแต่ละปีที่ต้องเข้าบรรจุเข้าเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หากโรงพยาบาลมีงบประมาณไม่พอ รัฐบาลก็คงเข้าไปดูแล ไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลประสบภาวะขาดทุนจนต้องปิดโรงพยาบาล ทว่าก็ยังมีผู้บริหารโรงพยาบาลบางส่วนยังแสดงความกังวล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ยังมีตัวเลขงบดุลติดลบ เพราะเกรงว่าภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ปัญหาการบรรจุตำแหน่งให้กับลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพจะเบาบางไปแล้ว แต่ก่อนสิ้นปีปรากฏว่ามีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในระบบการจ้างงานกระทรวงสาธารณสุข โดยทาง "กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพ" ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลนับแสนคนได้ออกมาร้องขอความเท่าเทียมในสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานเช่นกัน โดยประกาศนัดหยุดงานในวันที่ 1-3 มกราคม 2556 รวมถึงการเรียกร้องของ "กลุ่มเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวอีก 4 สายวิชาชีพ"  ขอให้เพิ่มบรรจุร่วมในสายวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้รับสิทธิ์พิจารณาบรรจุเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับ อีก 21 สายวิชาชีพก่อนหน้านี้

เพราะต่างเป็นนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุข เข้าเรียนในวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกเช่นกัน โดย ก่อนหน้านี้ในปี 2553-2554 ได้ถูกบรรจุ ร่วมพิจารณาเพื่อจัดสรรตำแหน่ง แต่กลับถูกตัดออกในภายหลัง ทำให้รู้สึกถึง ความไม่เป็นธรรม แถมยังไม่สามารถ เปลี่ยนไปทำงานอื่นๆ ได้ เนื่องจากสาขาที่เรียนมาต้องทำงานเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น

ที่ผ่านมาทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้เจรจา โดยในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพจะปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข มีการเพิ่มเงินเดือนปีละ 6% เข้าร่วมกองทุนสะสมเลี้ยงชีพ และดูแลรักษาพยาบาลฟรีรวมถึงญาติสายตรง ทำให้การนัดหยุดงานเลื่อนออกไป เพื่อรดวัดใจผู้บริหารก่อน ขณะที่กลุ่มเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวอีก 4 สายวิชาชีพนั้น ได้บรรจุเข้าร่วมการพิจารณาตำแหน่งข้าราชการด้วย ทำให้ปัญหาต่างๆ จึงยุติลง

ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์กำลังคนกระทรวงสาธารณสุขช่วงปีที่ผ่านมา  ที่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาได้ รุกคืบไปมาก แต่ทว่าปี 2556 ยังคงต้องติดตามดูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกลี่ยกระจายตำแหน่งข้าราชการ 22,000 ตำแหน่ง ให้กับลูกจ้างชั่วคราว 25 สายวิชาชีพ ว่าจะราบรื่นหรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 มกราคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง