ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปสช.เล็งขยายสิทธิรักษาเท่าเทียม 3 กองทุนกับผู้ป่วยมะเร็ง คาดประเดิม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมก่อน

หลังจากรัฐบาลมีนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกแห่งไม่ถามสิทธิเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 และขยายไปยังผู้ป่วยโรคไตและเอดส์ให้ได้รับสิทธิการรักษาเท่าเทียมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญในกลุ่มโรคมะเร็ง โดยหลักการ คือ ต้องการให้คนได้ใช้สิทธิการรักษาเหมือนเดิมแม้จะเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปกองทุนหนึ่ง เช่น จากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เปลี่ยนเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ต้องได้รับสิทธิการรักษาต่อเนื่องเหมือนเดิม ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นจะมีการปรับให้เท่ากันทุกกองทุนหรือไม่นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปทำการศึกษา พร้อมทั้งหารายละเอียดว่าจะครอบคลุมมะเร็งชนิดใดบ้าง เนื่องจากมะเร็งมีหลายชนิด เบื้องต้นต้องเลือกมะเร็งชนิดที่พบมาก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด คาดว่าจะมีประมาณ 4-5 ชนิด อยู่ระหว่างศึกษา พร้อมทั้งต้องดูด้วยว่าวิธีการรักษาจะออกมาครอบคลุมรูปแบบใดบ้าง เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน

"เรื่องนี้มอบให้ สปสช.เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง หรือเคลียริ่งเฮาส์ (Clearing house) เหมือนการบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ที่ สปสช.สำรองจ่ายก่อน และไปเรียกเก็บตามกองทุนเจ้าของสิทธิภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อ สปสช.ศึกษารายละเอียดเรียบร้อยแล้วก็จะเสนอคณะกรรมการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ที่มีนายกฯเป็นประธานพิจารณาต่อไป" นพ.ประดิษฐกล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การขยายสิทธิบูรณาการ 3 กองทุนไปยังโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนยังต่างกัน จึงมีการศึกษาว่าจะขยายไปยังโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีกลุ่มโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นอันดับแรก เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย โดยหลักจะเน้นให้สิทธิการรักษาที่เหมือนกันทั้ง 3 กองทุน เริ่มตั้งแต่หากคัดกรองแล้วพบโรคก็จะทำการรักษาทันที โดยการรักษาจะต้องเหมือนกัน ยกตัวอย่างหากป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 1 การใช้ยาจะต้องเป็นสูตรเดียวกันหมด หรือหากต้องผ่าตัดก็ต้องมีระดับที่เหมือนกัน เช่น ผ่าตัดมดลูกทั้งชุด หรือตัดปีกรังไข่ รวมทั้งหลังผ่าตัดจะให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง เป็นต้น คาดว่าทั้งหมดจะเป็นรูปธรรมได้ในเดือนเมษายน 2556

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนเมษายนหรือไม่ นพ.วินัยกล่าวว่า น่าจะไม่เกินกลางปี 2556 แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่ประชุมคณะกรรมการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพที่มีนายกฯเป็นประธานพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมานายกฯให้ความสำคัญนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนมาตลอด

นพ.วินัยกล่าวว่า เมื่อมีการบูรณาการ 3 กองทุนให้ได้รับมาตรฐานการรักษาที่เท่ากันแล้ว ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นก็ควรเท่ากัน เพียงแต่เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ต้องหารือร่วมกับ 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคมและกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ คาดว่าจะหารือได้ภายในเดือนมกราคมนี้ อีกทั้งจะมีการดูแลในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคองทั้ง 3 กองทุน กล่าวคือ โดยปกติแล้วเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยป่วยระยะสุดท้าย ก็จะมีทางเลือกว่าให้อยู่ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับบ้านเพื่อไปอยู่กับลูกหลาน แต่ที่ผ่านมาจะเป็นการดูแลกันเอง ตรงนี้จะมีการดูแลเชิงรุกให้ โดยเน้นชุมชนช่วยกัน รวมทั้งผ่านเครือข่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ลงพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีทั้งกำลังใจ และอยู่ได้อย่างประคับประคองต่อไป "การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้นจะครอบคลุมมะเร็งทุกชนิด โดยเมื่อผู้ป่วยกลับไปบ้านก็จะมีการตรวจเยี่ยมและให้ยาแก้ปวดกรณีเจ็บปวดมาก ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยทั้งเรื่องกำลังใจที่ต้องการกลับไปอยู่บ้าน มีครอบครัวอยู่ใกล้ๆ ขณะเดียวกันก็จะได้รับการดูแลอย่างประคับประคองให้เจ็บปวดจากโรคน้อยที่สุด" นพ.วินัยกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 2 มกราคม 2556