ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล หรือกองทุนสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สปสช. นั้น ปัจจุบันครอบคลุมร้อยละ 99 หรือ 7,718 แห่งทั่วประเทศ โดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณอัตรา 40 บาทต่อประชากรต่อปี ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน สปสช.สมทบไปแล้ว 10,685 ล้านบาท อบต.เทศบาล สมทบ 3,001 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 56.65 ล้านคน

นพ.วินัยกล่าวว่า กิจกรรมที่แต่ละกองทุนสุขภาพตำบลดำเนินการ มีทั้งการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชน เพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชน ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ล่าสุด สปสช.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโครงการพัฒนางานสุขภาพชุมชนร่วมกัน ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2558 ทุกอำเภอทั่วประเทศจะมี 1 ตำบลต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสุขภาพชุมชน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 มกราคม 2556