ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ช่วงนี้กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) ฟีเวอร์ กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะข้อดี - ข้อเสียในทางเศรษฐกิจ ที่นับว่าเป็นโจทย์สำคัญให้ทางภาครัฐรวมทั้งประชาชนคนไทย ได้นำไปขบคิดว่า อีก 2 ปีข้างหน้า เราเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง หรือได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นกันมากน้อยเพียงใด

นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ระบบสาธารณสุขของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่น่าจะได้รับแรงกระเพื่อมไปด้วย เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของคนในแวดวง "หมอ - พยาบาล" ที่เริ่มออกมาพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพรมแดนของทั้ง 10 ประเทศทลายลง วิกฤตหมอะ พยาบาลไทย อาจเกิดขึ้นได้หากนโยบายภาครัฐในด้านการขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพ การส่งเสริมไทยสู่การเป็นเมดิคอล ฮับ (Medical Hub) การขยายตัวของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ (ในภาครัฐ) ที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ

ที่พูดเช่นนั้นก็เพราะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาชีพแพทย์ (Medical Practitioners) อาชีพทันตแพทย์ (Dental Practitioners) และอาชีพพยาบาล (Nursing Services) ได้มีการกำหนดให้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ให้เป็น 3 ใน 7 วิชาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเชี่ยวชาญได้อย่างเสรี นี่เท่ากับว่า หมอ พยาบาลบ้านเราสามารถไปทำงานในอาเซียนได้ง่ายขึ้น หากปัญหาเรื่องมาตรฐานใบประกอบวิชาชีพของแต่ละประเทศได้ข้อสรุป

และหากสถานการณ์ด้านคุณภาพชีวิตของหมอ พยาบาล ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับภาระงานที่เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้บุคลากรเหล่านี้ ไหลเข้าสู่ภาคเอกชน และส่วนหนึ่งอาจเคลื่อนย้ายไปสถานพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า จะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะลำพังในปัจจุบัน หมอะ พยาบาล และบุคลากรด้านการแพทย์อื่นๆ ก็แทบจะผลิตไม่ทันอยู่แล้ว

แม้เรื่องนี้หลายฝ่ายได้ออกมาสรุปว่า คงเป็นไปได้น้อย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่หมอะ พยาบาล จะไปทำงานนอกประเทศ เพราะนอกจาก โรค "คิดถึงบ้าน" แล้ว ยังอาจติดขัดเรื่องข้อกำหนดต่างๆ อีกทั้งในอาเซียนประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอยู่ในอันดับต้นๆ การเคลื่อนย้ายแรงงานของหมอะ พยาบาลจึงไม่น่าเป็นห่วง

เรื่องสมองไหลของหมอ - พยาบาลจึงเป็นอันตกไป  ทีนี้ลองมาโฟกัสในแง่ธุรกิจกันบ้าง ในปี 2558 เพดานหุ้นส่วนต่างชาติที่ถือสัญชาติอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ซึ่งจะกระทบอย่างมากต่อไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีเพดานที่ต่ำมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนอาจจะมองว่าน่าจะมีการเข้ามาลงทุนในบ้านเรามากขึ้นเพราะภาพรวมด้านการแพทย์ของเราถือว่ามีศักยภาพมากในอันดับต้นๆ ในภูมิภาค แต่เรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็วิเคราะห์กันอีกว่า คงมีนักลงทุนเข้ามาไม่มากเช่นกัน (?)

หลายฝ่ายไม่ได้มองเฉพาะประเด็นนี้ แต่กลับมองไปที่ผลกระทบของภาคโรงพยาบาลในแง่ของค่ารักษาบริการทางการแพทย์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์จำนวนน้อยมาก ประมาณ 3 คน / ประชากร 10,000 คน ขณะที่พยาบาลอยู่ในสัดส่วน 1 คน/ ประชากร 600 คน น้อยกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีอยู่ในระดับ 1 คน / ประชากร 250 คนและ 300 คนตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเกิดการไหลทะลักเข้าของบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศอื่นๆ ที่มีมาตรฐานเพียงพอ นี่เองที่อาจนำไปสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เนื่องจากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาจจะกระทบต่อประชากรผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับ ไทยอาจเสริมสร้างศักยภาพเพื่อรองรับแนวโน้มและโอกาสใหม่ๆ ด้วยการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุในอาเซียนที่มีจำนวนมากขึ้นจาก 9% เป็น 12% ในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและขีดความสามารถทางด้านบริการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International : JCI Accreditation ของสหรัฐอเมริกา จำนวน 28 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในอาเซียน สะท้อนว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านมาตรฐานของสถานพยาบาล

อีกทั้งหากมองในแง่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมากถึง 60% ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซียมีเพียง 14% ก็ถือว่าไทยมีศักยภาพเช่นกัน แต่จะทำอย่างไรให้เรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้มากขึ้น

หากเราสามารถปรับตัวได้ในทิศทางที่ถูกต้อง จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคอล ฮับ (Medical Hub) ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากเรามีบุคลากรที่มีคุณภาพ เทคโนโลยี รวมทั้งงานวิจัย และความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทยอยู่ในชั้นแนวหน้า เทียบเคียงกับสิงคโปร์ นอกจากนี้ ถ้าหากเราสามารถเพิ่มศักยภาพเฉพาะด้าน เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์ศัลยกรรม ความงาม ฯลฯ ก็จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกมากเช่นกัน

ทั้งหมดทั้งมวล คงต้องไปเริ่มต้นที่ว่า ภาครัฐมีนโยบายในการผลิตแพทย์อย่างไร หลักสูตรสามารถตอบสนองกับความต้องการในปัจจุบันหรือไม่ และเมื่อจบไปแล้ว มีงานรองรับ และมีค่าตอบแทนรวมทั้งคุณภาพชีวิตที่น่าจูงใจเพียงใด ไม่เช่นนั้น เราคงต้องมานั่งกังวลใจว่า หมอ พยาบาลไทย จะพากันสมองไหลไปเอกชนเพราะ AEC ถึงเวลานั้นผลกระทบสาธารณสุขไทยในวงกว้างคงหนีไม่พ้นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มกราคม 2556