ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้า ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำร่างเอกสารแนบท้าย MOU เพื่อท้วงติงการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริหารงานกองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการ และแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการทำบันทึกแนบท้าย และร่างพระราชกฤษฎีกาตามมติการประชุมของคณะทำงานเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา

"ได้เสนอให้เพิ่มคณะกรรมการบริหารกองทุนจากเดิม 15 คน เป็น 25 คน เพื่อให้คณะกรรมการบริหารกองทุนรับทราบปัญหาต่างๆ ของข้าราชการท้องถิ่นอย่างทั่วถึง มีองค์ประกอบ 4 ฝ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ผู้แทนส่วนราชการ 6 คน ผู้แทนผู้บริหาร ท้องถิ่น 6 คน ผู้แทนข้าราชการท้องถิ่น 6 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ผู้บริหารทั้ง 2 สมาคมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้กรรมการผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างประจำมาจากตัวแทน ก.กลาง เนื่องจากการคัดสรรตัวบุคคลควรเปิดกว้างให้บุคคลอื่นเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยให้ สป.สช.เป็นผู้กำหนดวิธีการเลือก เช่น ใช้ระบบเลือกตรง โดยมีการสมัครล่วงหน้า และให้ลงคะแนนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบออนไลน์" นายสรณะกล่าว และว่า

ที่ผ่านมาผู้แทนใน ก.กลางหลายรายดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหลายแห่ง เช่น กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ กรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญฯ หรือ อนุกรรมการด้านต่างๆ ของ ก.กลางหรือคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่มีศักยภาพ และไม่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้ เข้ามากำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ นอกจากนั้น การเลือกโดยมีการเสนอชื่อและเลือกกันเอง เป็นระบบที่ล้มเหลวในกระบวนการสรรหาในคณะกรรมการ ก.กลาง กถ.หรือ ก.จังหวัด จึงไม่ควรนำระบบดังกล่าวมาใช้กับการคัดสรรกรรมการบริหารกองทุนอีก แต่ควรใช้วิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิใน แต่ละสาขาอย่างแท้จริง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 มกราคม 2556