ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ธุรกิจโรงพยาบาลจากประเทศไทย กำลังเป็นดาวเด่นในเวทีอาเซียน รวมทั้งตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน ผู้ประกอบการหลายรายทยอยเปิดการลงทุนอย่างหนัก  นายแพทย์บุญ วนาสินประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี  ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ"  ว่า เตรียมเม็ดเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนสร้างฐานธุรกิจในจีนช่วง 2-3 ปีจากนี้

นายแพทย์บุญ กล่าวว่า แผนขยายธุรกิจในจีนครั้งนี้นับเป็นการเข้าลงทุนครั้งแรกจากที่ผ่านมาเข้าไปร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลรัฐเป็นหลักโดยได้ "ร่วมทุน" กับนักธุรกิจจีน จัดตั้ง 3 บริษัทใหม่ ได้แก่ บริษัท ไชน่า-ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล อินเวสเมนท์ แมนเนจเมนท์ กรุ๊ป  บริษัท ดับบลิวเจ อินเตอร์เนชั่น แนล เมดิคัล เซ็นเตอร์ จำกัด และ บริษัท ดับบลิวเจ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์แคร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด

จากก่อนหน้านี้ ได้จัดตั้งบริษัทในฮ่องกง 3 บริษัท คือ  ไทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส อินเวสเมนส์ จำกัด ดูแลด้านการลงทุน ตนเองถือหุ้นใหญ่ 51% นักธุรกิจฮ่องกง 49%  บริษัท ดับบลิวเจ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล แมนเนจเมนท์ จำกัด  ดูแลด้านการบริหาร และบริษัท ไทร์ ฮอสพิทอล อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์  ดูแลงานด้านไอที

ภายใน 2 ปีมีเป้าหมายสร้างโรงพยาบาล 4 แห่งในเมือง  "หนานจิง" และ  "ฉางโจ"  ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซู  ทางทิศตะวันออกของประเทศจีนติดกับเซี่ยงไฮ้ เป็นมณฑลใหญ่ มีประชากร 100 ล้านคน ที่สำคัญคนท้องถิ่นมีกำลังซื้อสูง โดยจะลงทุนโรงพยาบาลขนาด 500-1,000 เตียง รวมมูลค่าลงทุน 7 หมื่นล้านบาท

เริ่มจากปี 2556 นี้ ใช้เงินลงทุน 2 หมื่น ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกในหนานจิง ขนาด 1,000 เตียง เป็นโรงพยาบาลระดับอินเตอร์เนชั่นแนล รองรับชาวต่างชาติ และ "คนรวย" ของจีน คาดแล้วเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า

"เดิมรัฐบาลจีน มีนโยบายควบคุมการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาล มีความเข้มงวดและมีกฎเกณฑ์มาก ทำให้การเข้าลงทุนที่ผ่านมาเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนและร่วมบริหารแผนกคนไข้ต่างประเทศ ในโรง พยาบาลของรัฐที่เมืองปักกิ่ง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งหลังจากรัฐบาลจีนประกาศแผนปฏิรูปสาธารณสุข ระยะ 5 ปี เปิดทางให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนด้านโรงพยาบาล ทำให้เรากล้าตัดสินใจทุ่มลงทุนเต็มที่ในจีน" นายแพทย์บุญ กล่าว

ธุรกิจโรงพยาบาลในจีน เติบโตสูงกว่า 30% ทุกปี ที่สำคัญมีโรงพยาบาลระดับอินเตอร์เนชั่นแนลน้อย  ปัจจุบันจีนใช้เม็ดเงินด้านสาธารณสุขเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 2% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่อเมริกาใช้เงินด้านสาธารณสุข 3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17% ของจีดีพี ดังนั้นภายใน 5 ปีข้างหน้าสาธารณสุขของจีนจะใหญ่มาก บริษัทยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในปักกิ่งและหนานจิง เป็นฐานผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข มุ่งผลิตแพทย์และพยาบาล รองรับแผนการขยายธุรกิจ

"จีนเป็นตลาดมีดีมานด์มหาศาล กลุ่มคนจีนที่ร่ำรวย 3% เท่ากับ 39 ล้านคนแล้ว แต่โรงพยาบาลที่มีคุณภาพยังมีอยู่น้อย ฉะนั้นตลาดกว้างใหญ่มาก ทำให้เรากล้าลงทุน ยิ่งเวลานโยบายปฏิรูปสาธารณสุขของจีนชัดเจนทำให้เรามั่นใจมากกับประสบการณ์กว่า 10 ปีในจีน  ถือว่าเป็นปีลงทุนครั้งใหญ่ของเรา"

นอกจากลงทุนโรงพยาบาล 4 แห่งในมณฑลเฉียงซูแล้ว  ยังได้ร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีน เข้าไปบริหารโรงพยาบาลที่คุนหมิง และ ไห่หนาน จำนวน 200 เตียง จากทั้งหมด 1,000 เตียง  ทั้ง 2 แห่ง จะลงทุนราว 200-300  ล้านบาท

นายแพทย์บุญ กล่าวต่อว่า กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยนำร่องด้วยการ "รับบริหาร" โรงพยาบาลในเวียดนาม หลังจากนี้มีแผนเข้าลงทุนต่อในพม่า คาดใช้ระยะเวลาอีก 1 ปี เพราะต้องการให้กฎหมายต่างๆ มีความชัดเจนมากกว่านี้ ผุดเนอร์สซิ่งโฮม 2 พันไร่ จะเน้นพัฒนาโครงการ "เนอร์สซิ่งโฮม" เม็ดเงินลงทุน 2,000-3,000 ล้านบาท  มองว่า เป็นตลาดมีศักยภาพอย่างมากในอนาคต จากแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุเพิ่ม มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีที่ดินในมือหลายแห่ง ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

โดยเนอร์สซิ่งโฮมแห่งแรก ที่จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ 2,000 ไร่ แบ่งเป็นเฟสละ 200 ไร่ เริ่มจากเฟสแรก 100 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านพัก 60 ตารางวา จำนวน 800 ยูนิต อีก 100 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนกลาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงโรงพยาบาลขนาดเล็ก เจาะลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้ เตรียมพัฒนาเนอร์สซิ่งโฮมอีกหลายแห่ง อาทิ ภูเก็ต หัวหิน ในกรุงเทพฯ ย่านรังสิต ตรงข้ามสนามกอล์ฟราชธานี เนื้อที่ 200 ไร่ มีบ้านพัก 70-80 หลัง ราคาตั้งแต่ 1-2 ล้านบาท จะมีคลินิก รับดูแลคนชรา ทั้งที่ดูแลตัวเองได้  ไม่ต้องทำกายภาพ คิดค่าบริการประมาณเดือนละ 5,000 บาท และอีกหนึ่งแห่งอยู่ในย่านพระราม 9 เนื้อที่ 20 ไร่ พัฒนา เป็นเนอร์สซิ่งโฮมระดับ 5 ดาว เจาะกลุ่มเศรษฐีคนไทยและต่างชาติ จะมีทั้งแบบเช่าและขาย โดยราคาขายอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อ ตารางเมตร

"เทรนด์ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการของตลาดเนอร์สซิ่งโฮมมีมหาศาล ซึ่งการจ้างคนมาดูแลคนชราหรือผู้ที่เจ็บป่วยหายาก มีผู้สูงอายุ และผู้ที่เจ็บป่วยที่ต้องทำกายภาพ  จากประเทศดูไบ โอมาน ติดต่อมาให้ดูแลเป็น 100 คน ส่วนใหญ่ มาพักยาว 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่อาการ ของโรค แต่หากผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ รักษาในโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาทต่อเดือน แต่ของเราราคา 3 หมื่นบาทต่อเดือน"

นายแพทย์บุญ กล่าวต่อว่า  ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ยังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 15%  สะท้อนจากผลสำรวจพบว่าธุรกิจเฮลธ์แคร์ยังเป็นอันดับหนึ่ง ธุรกิจที่น่าลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพมีมากขึ้นตาม

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ในอนาคตของเครือธนบุรี จะมาจาก 3 ส่วน คือ การรับบริหารโรงพยาบาลทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เนอร์สซิ่งโฮม และโรงพยาบาล โดยบริษัทจะไม่เน้นลงทุนด้านโรงพยาบาลในไทยมากนัก เพราะใช้เงินลงทุนสูง 4,000-5,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนเตียงในกรุงเทพฯ มีมากกว่าต้องการ หรือคิดเป็น "เตียงว่าง" 40%  อย่างไรก็ตามบริษัทจะมุ่งพัฒนาและลงทุนเพิ่มเฉพาะโรงพยาบาลธนบุรี 1 และ 2 เท่านั้น ในส่วนของธนบุรี 1 จะใช้งบ 500 ล้านบาท ซื้อที่ดินเพิ่ม 6 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์โรคเฉพาะทาง เช่นศูนย์กระดูก ศูนย์มะเร็ง ซึ่งต้องลงทุนส่วนนี้อีก 600 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 มกราคม 2556