ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 10-15 คาดว่า จะประกาศใช้เกณฑ์ดังกล่าวแก่สถานพยาบาลในสังกัด สธ. ทั้งหมดภายใน 1-2 สัปดาห์ ว่า โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช มีแนวคิดปรับอัตราค่าบริการมาประมาณ 1-2 ปีแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท หรือเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รพ.ศิริราช จะยังไม่ปรับอัตราค่าบริการในเร็วๆ นี้ เพราะต้องรอให้ สธ.ออกประกาศปรับอัตราค่าบริการเสียก่อน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 เดือน กว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณาต่างๆ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงไม่เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วน รพ.ศิริราช นั้นไม่ได้ปรับมานานกว่า 10 ปี ซึ่งการปรับอัตราค่าบริการในครั้งนี้จะปรับตามต้นทุนที่เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด แต่จะพิจารณาเป็นรายการไป หากรายการใดมีราคาต่ำมากก็ควรมีการปรับเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุน โดยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และเปรียบเทียบอัตราค่าบริการใหม่ของ สธ.เพื่อไม่ให้อัตราค่าบริการแพงจนเกินไป

"ข้อกังวลว่า รพ.เอกชน จะปรับเพิ่มด้วยนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะช่องว่างของอัตราค่าบริการยังห่างกันอยู่ประมาณร้อยละ 30 และการเพิ่มค่าบริการของ รพ.รัฐในภาพรวมก็ไม่สูงประมาณร้อยละ 10 ถือว่ายังห่างจาก รพ.เอกชน ที่สำคัญการปรับเพิ่มครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะการเรียกเก็บเงินจะไปที่ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีการเรียกเก็บเงินแต่ละกองทุนเพิ่มขึ้น แต่คงใช้มาตรการประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น นโยบายการลดค่าใช้จ่ายด้านยาให้หันมาใช้ยาชื่อสามัญภายในประเทศ คาดว่า จะประหยัดงบประมาณ 10,000 ล้านบาท" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิกองทุนสุขภาพภาครัฐคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีประชากร 6 ล้านคน กองทุนประกันสังคมมีประชากร 9 ล้านคน และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน โดยกองทุนเหล่านี้จะทำหน้าที่จ่ายเงินให้สถานพยาบาลตามหลักหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งประชาชนไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มกราคม 2556