ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู 347 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 59 เสียง เมินฝ่ายค้านเตือนปัญหาสิทธิบัตรยา หวั่นขยายเวลาสิทธิบัตรทำให้ราคายาพุ่ง "เกียรติ" จี้ทบทวนหลายประเด็นกระทบภาคเอกชน "บุญทรง" แจงต้องเร่งเดินหน้า หวั่นกระทบขีดแข่งขัน เสียส่วนแบ่งตลาด 8.4 หมื่นล้าน

ที่ประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ได้เห็นชอบร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 347 เสียง ต่อ 21 เสียง และงดออกเสียง 59 เสียง หลังจากที่ได้อภิปรายนานเกือบ 3 ชั่วโมง

สำหรับประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายท้วงติง คือ ข้อบกพร่องในร่างเอฟทีเอไทย-อียู ที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เช่น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ร่างเอฟทีเอไทย-อียู ที่เสนอเข้าสู่รัฐสภา มีปัญหาในประเด็นที่อียูต้องการเรื่องสิทธิบัตรยา หากไทยลงนามเอฟทีเอ จะทำให้ราคายาเพิ่มสูงขึ้น

เช่น ยารักษามะเร็งตับ ขณะนี้ขายโด๊สละ 2 แสนบาท หากหมดอายุการจดสิทธิบัตร ยาจะลดราคาเหลือโด๊สละ 8,000 บาท ยาละลายลิ่มเลือด จากเดิมราคาเม็ดละ 90-120 บาท หากหมดอายุสิทธิบัตรยา จะเหลือราคาเม็ดละ 2 บาท ยาต้านไวรัสเอดส์ ขายโด๊สละ 2,000 -3,000 บาท เมื่อหมดสิทธิบัตร ราคาจะลดเหลือโด๊สละ 600 บาท เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเอฟทีเอไทย-อียู ที่ไทยเตรียมไปเจรจามีผลให้ขยายสิทธิบัตรยาออกไป จะทำให้ราคายาแพงเท่าเดิม

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา อภิปรายว่า การเปิดเขตการค้าเสรีจะทำให้การนำเข้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้คนเข้าถึงสินค้าได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดคนสูบบุหรี่และนักดื่มเหล้าหน้าใหม่ได้

ขณะที่ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขอให้ทบทวนและปรับปรุงร่างเอฟทีเอไทย-อียู เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ตนในฐานะคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเจรจาและตกลงร่วมกันในหลักการ ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในกรอบที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาครั้งนี้ เช่น หมวดพิธีการศุลกากรและอำนวยความสะดวกทางการค้า กล่าวคือไทยและอียูจะยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าร่วมกัน สินค้าที่ส่งไปประเทศในอียูเมื่อผ่านการตรวจสอบในไทยแล้วจะไม่มีการตรวจซ้ำในประเทศของอียูอีก

หรือกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด ปัจจุบันพบว่ามีกรอบเอฟทีเอที่ไทยทำไว้กับหลายประเทศ เมื่อจะนำกฎดังกล่าวไปเจรจากับอียู จึงไม่ควรจำกัดเฉพาะถิ่นประเทศไทย แต่ควรระบุตามกรอบของสินค้าอาเซียนเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาคเอกชนมีปัญหา ส่วนประเด็นอนุญาโตตุลาการ ทราบหรือไม่ว่าในบางประเทศของกลุ่มอียูมีข้อห้ามใช้อนุญาโตตุลาการในกรณีที่มีข้อพิพาท เป็นต้น

ด้าน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมลงนามเอฟทีเอไทย-อียู เพื่อป้องกันการสูญเสียขีดแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศที่ได้ทำเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการลดผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่จะเริ่มในปี 2558 ซึ่งอาจทำให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท

“เรื่องที่ภาคสังคมกังวลว่าจะเกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นหากมีการเปิดการค้าเสรี ข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างประเทศมีสัดส่วนการบริโภคเพียงร้อยละ 1.8 ของการบริโภคทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม การเจรจาเอฟทีเอยังไม่ได้ข้อยุติ จะมีการเจรจาต่อไป การทำร่างเอฟทีเอต้องเปิดกว้าง ไม่มีเงื่อนไขกำหนดไว้ล่วงหน้า ส่วนข้อเสนอผมจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงและนำเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้ง” นายบุญทรง กล่าว

อนึ่ง ช่วงต้นของการประชุมรัฐสภา ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ขอเลื่อนร่างกรอบเอฟทีเอ จากเรื่องด่วนลำดับที่ 24 มาเป็นลำดับที่ 3 ทำให้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.คัดค้าน และเห็นว่าให้คงไว้ลำดับท้าย เพราะกระทรวงพาณิชย์เพิ่งเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างกรอบเอฟทีไอ ไทย-อียู เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง แต่ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตด้วยเสียงข้างมากเลื่อนร่างเอฟทีเอ ไทย-อียู ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 3

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมรัฐสภา ได้มีการชุมนุมของเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เรียกร้องให้พิจารณาถอนบัญชีเหล้าและบุหรี่ออกจากร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มกราคม 2556