ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเข้าพบ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาสปสช. หวั่นการเมืองแทรกแซงการเลือกรองเลขาธิการ เกรงทุจริตเชิงนโยบายเอื้อพวกพ้อง ด้านเลขาธิการยันที่ผลคัดเลือกช้าเพราะต้องให้ กกต.ตรวจคุณสมบัติ

วันที่ 31 มกราคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ประมาณ 30 คน นำโดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เดินทางเข้าพบ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เพื่อขอทราบแนวทางในการคัดเลือกตำแหน่งรองเลขาธิการเพิ่ม 2 ตำแหน่ง ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันเกรงว่า จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการคัดเลือก

นพ.วินัยกล่าวว่า การคัดเลือกรองเลขาธิการล่าช้าเนื่องจากตามกฎหมายแล้ว หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรองเลขาธิการจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่า จะคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อใด ขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบของ กกต.ที่จะส่งกลับมายัง สปสช. อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกรองเลขาธิการเป็นกระบวนการภายในของ สปสช. ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารของคณะกรรมการกองทุน สปสช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงหรือไม่ที่ว่ามีผู้อำนวยการเขต สปสช. ลงชื่อหนังสือลาออกล่วงหน้า หากพบว่า การเลือกตั้งดังกล่าวมีฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง นพ.วินัยกล่าวว่า  ยังไม่เห็นจดหมายดังกล่าว และยังไม่มีใครส่งหนังสือมาถึงแต่อย่างใด ทั้งนี้ คงไม่มีใครอยากเห็นภาพเช่นนี้เกิดขึ้น แต่หากมีก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยถือเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจในการเลือกตำแหน่งดังกล่าว แต่ขอให้เชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นมีกติกา ระบบตรวจสอบในการดำเนินการอยู่

"ตามกฎหมายการคัดเลือกตำแหน่งรองเลขาธิการเป็นบทบาทหน้าที่ของ สปสช. แต่ในการคัดเลือกครั้งนี้ ทำในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีคนภายในพิจารณาตัดสิน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาสมัครได้ ซึ่งในหลายตำแหน่งก็เปิดรับคนภายนอก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนในถึงจะทำงานได้ เพราะการบริหารเป็นเรื่องที่ต้องดูความสามารถเป็นหลัก ซึ่งผมเข้าในดีว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้จะต้องดูความสามารถและประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำหน้าที่ด้วย" นพ.วินัยกล่าว

น.ส.สุภัทรากล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้อยากให้ นพ.วินัยยึดหลักการที่เคยใช้ในการบริหารระบบหลักประกัน ไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่จากการที่มีการตรวจสอบประวัติผู้สมัครบางรายพบว่า มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเมือง ซึ่งไม่มั่นใจว่า บุคคลเหล่านั้นจะเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพมากน้อยเพียงใด อาจทำให้เกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบายในการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องเกิดขึ้นได้

--มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.พ. 2556 (กรอบบ่าย)--