ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คปภ./ส.วินาศภัยไทย/ส.ประกันชีวิต  ประกันจ๊าก! สาธารณสุขโขกค่ารักษาพยาบาลอีก 20-30%ดันต้นทุนสินไหมพุ่ง ชี้ประกันสุขภาพหนักสุด ส่วนจะขึ้นเบี้ยเพื่อลดภาระหรือไม่ขอดูสถิติก่อน บิ๊กวินาศภัยชี้กระทบประกันทุกแบบทั้งประกันรถ-อุบัติเหตุยันสุขภาพ ย้ำขึ้นอยู่กับกลยุทธ์แต่ละบริษัท "ขึ้นเบี้ย-ลดคุ้มครอง-ให้ลูกค้าจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก"มองแง่ดีกระตุ้นคนทำประกันสุขภาพมากขึ้น จับตา! ผลกระทบรื้อประกันพ.ร.บ.

ผลพวงจากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมปรับค่ารักษาพยาบาลมาตรฐานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20-30% ครอบคลุม8 รายการ เช่น ค่าผ่าตัด ค่ายา ไอซียูให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้าง เงินเดือนขั้นต่ำอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราค่ารักษาพยาบาลไม่ได้มีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับอัตราค่ารักษพยาบาลดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันภัยที่ต้องแบกต้นทุนสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการประกันสุขภาพ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้ความเห็น "สยามธุรกิจ" ว่า ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการปรับขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพหรือไม่ ต้องดูก่อนว่าค่ารักษาพยาบาลจะปรับขึ้นอย่างไร และคงไม่ได้ปรับขึ้นทันทียังมีเวลาต้องเอาตัวเลขสถิติมาดู มาประเมินก่อน

นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ ผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หากปรับเพิ่มจริงอาจส่งผลกระทบต่อเบี้ยประกันสุขภาพ เนื่องจากต้นทุนการคำนวณเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ในการปรับเพิ่มหากปรับขึ้นจนถึงเพดานต้นทุนที่บริษัทรับไม่ได้ก็จำเป็นต้องปรับเบี้ยประกันขึ้น

"อาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือกรมธรรม์อยู่เดิม ความคุ้มครองที่ซื้อไว้ไม่เพียงพอรองรับค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องซื้อเพิ่มแต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลดีต่อบริษัทประกันชีวิตเนื่องจากผู้เอาประกันบางรายมีความต้องการซื้อความคุ้มครองเพิ่ม รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพไว้ อาจสนใจหันมาทำประกันประเภทนี้รองรับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต"

ด้านนายจีรพันธ์  อัศวะธนกุล  นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า ผลกระทบมีอยู่แล้วส่วนจะขึ้นเบี้ยหรือลดความคุ้มครองหรือให้ลูกค้ารับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก (deductible)เพิ่มขึ้นเหมือนประกันรถยนต์เป็นไปได้ทุกวิธีแล้วแต่กลยุทธ์ของแต่ละบริษัทอย่างค่าเสียหายส่วนแรกยังไม่ค่อยเห็นในประกันสุขภาพในประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศมีมากนับเป็นลูกเล่นใหม่ที่นำมาใช้ได้เพื่อลดภาระบริษัทประกัน

"ต้นทุนสินไหมประกันสุขภาพขยับขึ้นอยู่แล้วเพราะค่ารักษาพยาบาลเป็นต้นทุนใหญ่สุด ตามหลักเมื่อต้นทุนแพงขึ้นค่าเบี้ยก็ต้องขยับตามอยู่ที่แต่ละบริษัท มองอีกด้านการที่ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นจะทำให้คนหันมาทำประกันสุขภาพกันเยอะขึ้นตรงนี้ช่วยได้แทนที่จะขึ้นเบี้ยมากอาจจะขึ้นน้อยลงเพราะได้วอลุ่มเข้ามา"

นายอรัญ ศรีว่องไทย กรรมการบริหารและรองกก.ผจก.อาวุโส บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า หากมีการปรับจริงมีผลกระทบแน่เพราะค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยนำมาคำนวณอัตราค่าสินไหมทดแทนหรือลอสเรโช (Loss Ratio) เอามาจากค่ารักษาพยาบาลจริงในปัจจุบัน ส่วนประกันพ.ร.บ. ตามข้อเท็จจริงค่ารักษาไม่ได้จ่ายสูงสุด 50,000 บาททุกราย ดังนั้นหากค่ารักษาพยาบาลปรับขึ้นไม่ถึง เพดานนี้ยังไม่กระทบ ยกเว้นจะปรับขึ้นเท่ากับระดับนี้หรือปรับเพิ่มขึ้นทุกส่วนแม้ไม่ถึง 50,000 บาทก็มีกระทบแน่

นายเรืองเดช  ดุษฎีสุรพจน์  ปธ.กก.บห.กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า มองเป็นเรื่องดีเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับประกัน เช่นประกันสุขภาพมากขึ้น เพราะค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี หากลูกค้าแบกรับไม่ไหวต้องหันมาทำประกันสุขภาพเพื่อลดภาระค่ารักษาพยาบาล เป็นโอกาสในการขายของบริษัทประกันภัยต่างๆ

"ผมมองเป็นเรื่องดี การขายคงกระเตื้องขึ้น คนให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพมากขึ้น ส่วนประเด็นที่ค่าเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ดูมีกำไร จากการรับประกันตัวอื่นๆ เท่าไหร่ประทังกันได้หรือไม่ ดูภาพรวมทั้งตลาดมีเหตุผลที่จะปรับค่าเบี้ยขึ้นจากการที่สธ.ปรับค่ารักษาพยาบาลเหมือนประกันรถยนต์เวลาที่อู่ขึ้นค่าซ่อม"

นายณัฐดนัย อินทรสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นว่า ต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 20%จากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่การควบคุมของแต่ละบริษัทกระทบกับประกันทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) ประกันสุขภาพโดยเฉพาะในส่วนของบริษัทประกันสุขภาพนั้นต้องปรับตัวแน่นอน ส่วนผลกระทบต่อเบี้ยที่จะปรับเพิ่มนั้นจะเป็นอย่างไรคงต้องรออีกระยะ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด

"เป็นเรื่องที่เรากังวลอยู่เพราะเราขายประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพก็ต้องมาดูค่าใช้จ่ายจะขยับแค่ไหน เอารายการค่ารักษาพยาบาลแต่ละตัวที่ปรับอันไหนที่กระทบกับเราบ้างและจะคุมอย่างไร"

แหล่งข่าวจากคปภ.ให้ความเห็นกับ"สยามธุรกิจ" ว่า การปรับอัตราการรักษาน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทบทวนประกันภัยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่กำลังพิจารณากันอยู่ เบื้องต้นต้องมีผลกระทบเพราะทำให้ต้นทุนสินไหมทดแทน เพิ่มขึ้น คงต้องเอารายละเอียดค่ารักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นมาพิจารณาว่าจะกระทบมากแค่ไหน โดยประกันพ.ร.บ.ดูแลผู้ประสบภัยจากรถเป็นอุบัติเหตุหนักส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าผ่าตัด เป็นต้น แต่ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องผ่าตัด

"เอ็ฟเฟกต์โดยตรงคงเป็นประกันสุขภาพ ประกันพีเอ ส่วนประกันรถยนต์ภาคสมัครใจก็มีผลแต่ค่ารักษาพยาบาลเป็นแค่หมวด 1 จากทั้งหมด 7 หมวดความคุ้มครองเท่านั้น แง่บริษัทประกันกระทบกับต้นทุนสินไหมอยู่แล้ว มากน้อยต้องไปดู ส่วนจะขึ้นเบี้ยเขาคงต้องดูตลาด ดูคู่แข่ง ดูกำลังซื้อของลูกค้า แง่ผู้เอาประกันหากเห็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นถ้าเห็นว่าวงเงินประกันที่ซื้อไว้ไม่พออาจจะซื้อวงเงินประกันเพิ่มขึ้น"

อนึ่ง นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. ยืนยันอัตราเบี้ยประกันไม่ปรับขึ้นแน่นอนแม้การขึ้นค่ารักษาพยาบาลจะทำให้ต้นทุนสินไหมขยับขึ้น 6-8%  เพราะต้องใช้เวลาเก็บสถิติ 1-2 ปีถึงจะปรับตามค่ารักษาพยาบาลที่ขยับขึ้นได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 5 ก.พ. 2556--