ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรับประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ จัดกลุ่มโรงพยาบาลในพื้นที่ 5-6 จังหวัด เข้าเป็นพวงบริการเดียวกัน ดูแลประชาชนประมาณ 5 ล้านคน ทำงานเป็นทีม บริหารทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันทั้งกำลังคน สถานที่ บริหารคล้ายเอกชน ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวรักษานาน

วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2556) ที่ จ.สมุทรสงคราม นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการบริหารสาธารณสุข เพื่อตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศ อธิบดี รองอธิบดี นักวิชาการ รวม 160 คน

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการ เน้นการทำงานเป็นทีม ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคให้เข้าใจตรงกันว่า แนวคิดหลักของการเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพคือต้องสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้บริการประชาชนอย่างคุ้มค่าตามเกณฑ์สูงสุดที่กำหนดไว้ โดยจะรวมโรงพยาบาลใน5-6 จังหวัดใกล้เคียงกันเข้าเป็นพวงบริการเดียวกัน ดูแลประชาชนพวงละประมาณ 5 ล้านคน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า แทนการเติมทรัพยากรให้โรงพยาบาลทุกแห่งเหมือนๆ กัน เปลี่ยนมาเป็นเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั้ง บุคลากร สถานที่มาแบ่งกันใช้ ทั้งเตียงนอน ห้องผ่าตัด เครื่องมือแพทย์ ช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนที่เดิมไม่กล้าผ่าตัดโรคง่ายๆ เช่นไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดคลอด ก็ให้แพทย์จากโรงพยาบาลใหญ่ไปผ่าตัดแต่ใช้ห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชนแทนที่โรงพยาบาลใหญ่ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวผ่าตัดนานๆ คาดว่าประมาณ 1 เมษายน 2556 จะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำขณะนี้ คือจับกลุ่มโรงพยาบาลมาอยู่รวมกันเป็นพวงบริการ ปรับแนวคิดให้มองว่าคนป่วยเป็นคนป่วยของพวงบริการเดียวกัน สามารถส่งไปนอนรักษาหรือส่งไปผ่าตัดโรงพยาบาลอื่นที่อยู่ในพวงบริการเดียวกันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเบิกค่าใช้จ่าย เพราะงบประมาณจะจัดไว้ที่ต้นพวงบริการ และจะจ่ายไปตามโรงพยาบาลตามงานที่ทำ จากการไปตรวจราชการ ทุกแห่งขอสร้างตึกหมด เหตุผลโรงพยาบาลศูนย์เพราะผู้ป่วยไม่พอนอน ส่วนโรงพยาบาลชุมชนก็ขอสร้างทั้งๆที่มีผู้ป่วยนอนแค่ร้อยละ 50 จึงควรบริหารเตียงที่ว่างให้เกิดประโยชน์ แทนการสร้างตึกใหม่ 400-500 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้นำเอาแนวความคิดเหมือนเอกชนมาใช้ ที่มีการบริหารจัดการสถานที่ บุคลากร ให้คุ้มค่าที่สุด เช่น หากตึกผู้ป่วยมีคนไข้อัตราครองเตียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องปิดตึก แล้วส่งพยาบาลไปใช้ในตึกที่ขาด หรือโรงพยาบาลที่เปิดบริการล้างไตวันละ 8 ชั่วโมงแล้วขาดทุน แต่พอเปิด 24 ชั่วโมงแล้วกำไร ต้องมีการปรับปรุงให้เปิดบริการได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังได้สร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ในเรื่องเบี้ยกันดารยังไม่ได้มีการปรับลดใดๆทั้งสิ้น แต่จะเป็นการจ่ายอย่างสมศักดิ์ศรีตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้มีความยั่งยืน โดยจะให้อยู่ในค่าแรงของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะหากอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียวจะกลาย เป็นงบประมาณรายปี จะต้องออกระเบียบกระทรวงการคลัง รวมทั้งจะไปเบียดงบประมาณของกระทรวงอื่น ซึ่งเงินนี้ไม่ใช่เงินเดือน แต่เป็นเงินเดือนบวกเงินค่าตอบแทนที่ทำงานมากเกินปกติ มีการกำหนดกติกาที่ชัดเจนในการจ่าย และจะจ่ายเงินให้ได้หลายวิชาชีพ มีความสมดุลของกลุ่มแพทย์ พยาบาล วิชาชีพอื่น ๆ เนื่องจากเราทำงานกันเป็นทีม จึงไม่อยากให้มีความเลื่อมล้ำกัน ซึ่งจะได้นำผู้ที่มีส่วนได้เสียมาสัมมนาทำความเข้าใจต่อไป