ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ระบบฉุกเฉิน 3 กองทุน รอบ 9 เดือน จ่ายเงินชดเชย 254 ล้านบาท หรือ 31% ของค่ารักษาที่เรียกเก็บ เฉพาะสปสช.สำรองจ่ายแทนสปส.-กรมบัญชีกลาง 121 ล้านบาท ยังไม่ได้เงินคืนเพราะติดกฎระเบียบ ขณะที่สิทธิข้าราชการใช้บริการมากสุด 49% เจอขาประจำ 1 ราย ใช้บริการสูงสุด 15 ครั้ง

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า จากการรายงานผลการดำเนินงานระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุน พบว่า มีสิ่งที่น่าสนใจ 4 ส่วน คือ 1. มีประชาชนประมาณ 40% ไม่เข้าใจสิทธิประโยชน์อย่างชัดเจน 2. อัตราเบิกจ่ายจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงต้นทุน 3. ลดปัญหาประชาชนใช้สิทธิกรณีฉุกเฉินได้ และ 4. การส่งต่อผู้ป่วยกรณีพ้นภาวะวิกฤติ จะมาการสำรองเตียงไว้ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอผลการดำเนินงานระบบบริหารเจ็บป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุน ในการประชุมบอร์ดสปสช. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน (1 เม.ย.-31 ธ.ค.2555) พบว่าจำนวนการรับบริการทั้งสิ้น 14,525 คน 15,708 ครั้งแยกเป็น สิทธสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 7,731 ครั้ง หรือ 49% บัตรทอง 6,878 ครั้ง คิดเป็น 44% ประกันสังคม 1,063 ครั้ง หรือ 7% และอื่นๆ 36 ครั้ง ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการมากกว่า 5 ครั้ง 1 ราย กลุ่มอาการหลักที่เข้ารับบริการ 6 อันดับแรก คือ โรคระบบทางเดินหายใจ, อาการฉุกเฉินปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้อง ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ, อาการฉุกเฉินอื่นๆ เช่น หมดสติ ไม่หายใจ, โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด, อาการฉุกเฉินไข้สูง อ่อนเพลียมากและโรคระบบสมอง, ระบบประสาท

ภญ.เนตรนภิส กล่าวต่อว่า 9 เดือนพบกเบิงเงินชดเชยค่าบริการของฉุกเฉิน 3 กองทุน 254 ล้านบาท คิดเป็น 31% จากจำนวนค่ารักษาที่เรียกเก็บเข้ามา 813 ล้านบาท เฉพาะในส่วนของการเรียกเก็บจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม โดยภาพรวมสปสช.ได้สำรองค่าใช้จ่ายให้กับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและประกันสังคมต่อไปแล้ว 121 ล้านบาท ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับแก้กฎระเบียบและพบโรงพยาบาลที่ได้รับเงินชดเชยสูง 3 อันดับมี รพ.รามคำแหง จำนวน 18 ล้านบาท รพ.ธนบุรี 10 ล้านบาท และ รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ 7 ล้านบาท

"ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ต้องทำความชัดเจนเกี่ยวกับนิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การจัดการปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงิน การจัดระบบสำรองเตียงในเขตกทม.และปริมณฑล และทบทวนอัตราจ่ายตามข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชน" ภญ.เนตรนภัส กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556