ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  (สปส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ทั้งของผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน พบว่า โรคที่ผู้ประกันตนกลุ่มผู้ป่วยนอก เข้ารับการรักษา อันดับ 1 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง มีผู้ประกันตนใช้สิทธิทั้งหมด 842,721 ครั้ง อันดับ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน 662,593 ครั้ง อันดับ 3 การดูแลติดตามทางศัลยกรรมอื่นๆ 513,321 ครั้ง อันดับ 4 คออักเสบเฉียบพลัน 461,355 ครั้ง อันดับ 5 เบาหวาน 430,162 ครั้ง อันดับ 6 ท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ 390,614 ครั้ง อันดับ 7 ปวดท้องช่วงบน 308,952 ครั้ง อันดับ 8 ไข้หวัดธรรมดา 262,614 ครั้ง อันดับ 9 วิงเวียนศีรษะ 190,436 ครั้ง อันดับ 10 โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส 186,964 ครั้ง

นายอารักษ์กล่าวว่า ส่วนโรคที่ผู้ประกันตนกลุ่มผู้ป่วยใน เข้ารับการรักษาเป็นอันดับ 1 ได้แก่ โรคท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ 10,713 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 28,951 วัน อันดับ 2 ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน 5,993 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 23,326 วัน อันดับ 3 โรคข้อและเนื้อเยื่อในไตอักเสบเฉียบพลัน 2,970 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 13,816 วัน อันดับ 4 เนื้องอกร้ายบริเวณเต้านม 2,923 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 11,530 วัน อันดับ 5 ปวดท้องช่วงบน 2,828 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 7,354 วัน อันดับ 6 แท้งบุตร 2,496 ครั้ง  จำนวนวันนอนพัก 5,808 วัน  อันดับ 7 ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน 2,313 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 7,836 วัน อันดับ 8 วิงเวียนศีรษะ 2,185 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 5,694 วัน อันดับ 9 เนื้อเยื่อแขน-ขาอักเสบ 2,013 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 11,460 วัน อันดับ 10 โรคที่เกิดจากการผิดปกติของการตั้งครรภ์ 1,986 ครั้ง จำนวนวันนอนพัก 4,698 วัน

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า สปส. จ่ายสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่ผู้ประกันตนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 22,611,360,000 บาท จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ 10,472,000 คน  ซึ่งเฉลี่ยแล้วจ่ายสิทธิประโยชน์คนละ 2,159.22 บาท ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลการจ่ายสิทธิประโยชน์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2555 นั้น สปส.กำลังอยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม สปส.จะพยายามปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการการรักษาพยาบาลด้วยรูปแบบดีอาร์จีให้ดีขึ้น และลดข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556