ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประดิษฐ" จี้องค์การเภสัชกรรม ตอบข้อสงสัยสต๊อกวัตถุดิบผลิตพาราฯจากจีนกว่า 130 ตันตั้งแต่ปี 54 กังขาหมดอายุหรือยัง ซื้อไว้ล่วงหน้าทำไมหลายปี สั่ง "อย.-กรมวิทย์" เข้าไปเก็บวัตถุดิบทุกลอตมาตรวจวิเคราะห์ สงสัยวัตถุดิบมีปัญหาหลายลอตทำไมดันทุรังซื้ออยู่ ชี้หากไม่ปลอดภัยต้องคืนสินค้า คืนเงิน หาคนรับผิดชอบ

จากกรณี "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวโรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (รภท.ศอพท. ) ตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบในการผลิตยาพาราเซตามอลให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หลายลอตมีปัญหาต้องส่งเคลมบริษัท โดยปี 54-55 พบวัตถุดิบมีปัญหา 19 ลอต จาก 2 บริษัท แต่ อภ.ยืนยันว่า ไม่ได้นำวัตถุดิบที่มีปัญหามาผลิตยา ขณะเดียวกัน อภ.ก็ได้สต๊อกวัตถุดิบเอาไว้จำนวนมากโดยเช่าโกดังเก็บไว้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.เข้าพบว่า ก่อนหน้านี้อภ.ผลิตยาพาราเซตามอล ตอนหลังไปจ้าง รภท.ศอพท. ผลิตชนิดบรรจุขวด 1,000 เม็ด ส่วนชนิดแผงให้บริษัทเอกชนผู้ผลิตยารายหนึ่งผลิต โดยไปหาซัพพลายเออร์มาปกติได้จากประเทศจีน เมื่อปี 2553 วัตถุดิบไม่ดี อภ.ได้ยกเลิกไป

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า จากนั้นก็หาซัพพลายเออร์ใหม่ได้มา 2 เจ้า เจ้าหนึ่งส่งให้ รภท.ศอพท. ส่วนอีกเจ้าส่งให้บริษัทเอกชนผู้ผลิตยารายหนึ่ง ซึ่งแหล่งวัตถุดิบมีการตรวจเอกสารอะไรต่าง ๆ ได้คุณภาพ พอทำไปทำมาปี 54 มีการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบปนเปื้อนบ้าง ดังนั้นช่วงปลายปี 2555-2556 จึงสรุปว่า รภท.ศอพท. ขอเอาสต๊อกที่มีอยู่มาใช้แทนก่อน 10 ตัน เพราะมีการผลิตอยู่เดือนละ 10 ตัน และกำลังมีการคุยกับซัพพลายเออร์ว่าทำไมส่งของไม่มีคุณภาพมาให้หลายหน สต๊อกวัตถุดิบของ อภ.มีอยู่ 130 กว่าตัน เลยถามว่า มีสต๊อกเอาไว้ทำไม ทั้งที่คุณไปจ้างเขาผลิต ทาง อภ.ก็ได้ชี้แจงว่า เขาวางแผนว่าจะเปิดโรงงานผลิตยาพาราเซตามอลเอง ก็เลยซื้อมาในปี 54 ปรากฏว่าโรงงานที่จะเปิดปี 55 มันดีเลย์มาจนถึงปี 2556 คาดว่าจะเปิดได้เดือน มี.ค.นี้ แต่วัตถุดิบในสต๊อกก็เป็นเจ้าเดียวกับเมืองจีน

"ผมก็เลยตั้งคำถามเข้าไป 2-3 ข้อ ต้องตอบผมและสังคมให้ได้ว่า 1.สต๊อกที่มีอยู่ปลอดภัยหรือเปล่า ถ้าจะนำมาใช้ผลิตต่อต้องปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน 2.วัตถุดิบมีอายุการใช้งานหรือเปล่าเพราะซื้อเก็บไว้หลายปี ทำไมซื้อมาล่วงหน้าตั้งนาน 3.ถ้าใช้ไม่ได้ และไม่ใช้วัตถุดิบนี้ แล้วไปหาเจ้าใหม่จะมีผลต่อตลาดหรือไม่ ทาง อภ.ตอบว่าถ้าไม่ผลิตพาราเซตามอลคงไม่มีผลต่อตลาด เพราะมีผู้ผลิตรายอื่นทำอยู่ ทั้งนี้แม้ทาง อภ.จะบอกว่าซื้อวัตถุดิบกว่า 130 ตัน มาตั้งแต่ปลายปี 2554 แต่การซื้อมาเก็บไว้นาน ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ทำไมต้องไปซื้อล่วงหน้านาน ๆ ผมให้การบ้าน ผอ.อภ.ไปแล้ว ว่าเอาวัตถุดิบไปเก็บ 2 แห่งทำไม อภ.ต้องตอบว่าวัตถุดิบที่เก็บไว้กว่า 130 ตัน อายุการใช้งานยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า ไม่หมดอายุนะ แล้วตกลงโรงงานของ อภ.จะเปิดได้แน่ ๆ เมื่อไหร่ต้องสรุปมาให้ผมทราบ อย่าบอกคร่าว ๆ แล้วมาอ้างว่าพอดีฉุกเฉินแล้วขอเลื่อนไปอีก 1-2 เดือน แบบนั้นมันก็อำกัน" นพ.ประดิษฐ กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า จากนี้จะให้คนกลาง คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าไปนับวัตถุดิบและตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบทั้งหมด 100% เพื่อความชัวร์ ไม่มีการสุ่มมาตรวจ เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือเปล่า ถ้าอะไรไม่ปลอดภัยต้องคืน ทิ้งไป และต้องสอบสวนหาผู้รับผิดชอบว่าทำไมปล่อยปละละเลยให้เกิดแบบนี้ อภ.ต้องอธิบายว่าทำไมโรงงานล่าช้า เปิดไม่ได้ แล้วมีคนรับผิดชอบหรือเปล่า ไม่ใช่มาตอบแค่ว่าล่าช้ากำลังแก้ไขปัญหาอยู่แล้วคงเปิดได้ แต่ของเก่าไม่ได้พูดถึง หลายคำถามทาง ผอ.อภ.ยังตอบไม่ได้ก็ให้เวลา รอกลับจากเจนีวาเช้าวันพุธที่ 20 ก.พ. ค่อยมาตอบทุกข้อที่ถาม และต้องหาเอกสารมาด้วย อย่างวัตถุดิบมีปัญหา 10 กว่าลอต และดันทุรังใช้อยู่ ใครเป็นคนตัดสินให้เดินหน้าต่อ คนตัดสินให้เดินหน้าต่อต้องตอบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556