ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประชุมวิชาการสุรา ปีที่ 7 ฉลองครบ 5 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอัตราการดื่มแบบอันตรายจาก 9.1% ในปี 2546-2547 เหลือ 7.3% ในปี 2551-2552 ด้าน'นพ.สมาน'วอนระดับจังหวัดบังคับใช้ กม.จริงจัง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 7 หัวข้อ "นโยบายแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของทุกคน : Ownership in alcohol policy" ระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และ สสส. ว่า ผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้คนไทยเสียเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว จาก 154,998 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลงเหลือ 137,059 ล้านบาท ในปี 2554 เท่ากับสามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า 5 ปีที่ผ่านมา ช่วยประหยัดเงินจากการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท ขณะที่อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตรายมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 9.1 ในปี 2546-2547 เหลือร้อยละ 7.3 ในปี 2551-2552

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กฎหมายไม่ว่าจะดีอย่างไร หากไม่มีการบังคับใช้ก็ไม่มีความหมาย จึงอยากให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง ส่วนกรณีที่ได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ที่มีการแสดงสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ปรากฏบนป้าย รวมไปถึงบนสินค้าชนิดใดก็ตามจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เนื่องจากเข้าข่ายความผิดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สสจ. ทั่วประเทศแล้วว่าให้เริ่มตรวจสอบร้านค้าที่ทำความผิดเข้าข่ายในกรณีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ และหากพบร้านใดมีความผิดที่เข้าข่ายนี้ให้แจ้งความดำเนินคดีทันที

"หาก สสจ.ใด ไม่ทราบขั้นตอน หรือรายละเอียดในการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว ผมได้แนบแบบฟอร์มเพื่อใช้ในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดเข้าข่ายกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งระบุฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แจ้งไปยัง สสจ. พร้อมกับหนังสือของปลัด สธ.ด้วยแล้ว" นพ.สมานกล่าว

ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลยกย่องบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว คือ 1.นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช 2.นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ 3.นางสมควร งูพิมาย สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลพิมาย จ.นครราชสีมา

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2556