ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แนะทบทวน 3 กองทุนสุขภาพ ให้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน เพื่อคุมต้นทุนที่สูงและไม่ให้เหลื่อมล้ำ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ศึกษาโครงการ การพัฒนาแนวทางอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเสนอต่อสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย โดยได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการ 3 กองทุนสุขภาพใหม่ทั้งนี้ เนื่องจากการบริหารมีลักษณะแยกส่วนภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ต่างกัน ทำให้มีต้นทุนสูงที่เกินควรเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารซ้ำซ้อนและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยภายใต้แต่ละกองทุนก็แตกต่างกัน

คณะผู้วิจัยเสนอแนะว่า เพื่อจะลดต้นทุนการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการเข้าถึงและการได้รับการรักษาพยาบาลของประชาชนควรพิจารณาโอนย้ายภารกิจในการบริหารจัดการกองทุนทั้ง 3 ให้อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน เพื่อให้มีการบูรณาการ

ระบบประกันสุขภาพของไทยในอนาคตควรอิงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีสมาชิกมากที่สุด คือ 48 ล้านคน การขยายฐานสมาชิกอีก 17 ล้านคน น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้หากอิงกับระบบประกันสังคมอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากมีสมาชิกเพียง10 ล้านคน

ขณะที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสมาชิกเป็นข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเมื่อปี2554 สูงถึงประมาณ 1.4 หมื่นกว่าบาทต่อหัวต่อปีขณะที่บัตรทองมีค่าใช้จ่ายประมาณ3,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี การขยายสิทธิประโยชน์ของข้าราชการให้ประชาชนทั้งประเทศจะสร้างภาระการคลังอย่างมาก

"หากประเทศไทยจะเดินหน้าโดยใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแกนแล้ว ก็ควรมีแผนการโอนภารกิจในการบริหารจัดการและกำกับดูแลทั้ง 3 กองทุนมาที่กระทรวงสาธารณสุข แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจควรจะเป็นอิสระจากกระทรวง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)" นางเดือนเด่น ระบุ

นอกจากนี้ ควรลดความเหลื่อมล้ำสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลระหว่างสมาชิกของทั้ง 3 กองทุน แต่ต้องมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลเดียวกันและไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นสิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเพิ่มเติมได้ด้วยการเก็บเบี้ยประกันจากนายจ้างหรือลูกจ้างหรือทั้งสองฝ่าย เช่น บริการตัดแว่น การชดเชยการขาดรายได้ให้แก่ลูกจ้างช่วงคลอดบุตรหรือเจ็บป่วย แต่จะต้องไม่อยู่ในรูปแบบของสิทธิพิเศษ

คณะผู้วิจัยยังเสนอว่า ในระยะยาวรัฐบาลควรพิจารณายุบเลิกสิทธิประโยชน์เสริมที่มีลักษณะเป็นสิทธิพิเศษของกองทุนสวัสดิการข้าราชการโดยการให้ข้าราชการที่บรรจุใหม่เข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพิ่มอัตราเงินเดือนเพื่อเป็นการชดเชยการสูญเสียสิทธิดังกล่าวแทน

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบประกันสุขภาพตามที่เสนอมาทั้งหมดรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กร แต่สามารถลดต้นทุนและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลระหว่าง 3 กองทุนได้ โดยผ่านคณะกรรมการร่วมทั้ง 3 กองทุน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐบาลมีนโยบายจะสร้างมาตรฐานกลางในการรักษาพยาบาลบ้างแล้ว เช่น นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556