ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"คุณพ่อคะ...สมัยก่อนมีรถพยาบาลหรือป่าวคะ...""คุณแม่...ทำไมสมุนไพรรักษาโรคได้ครับ..." ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขของไทย เมื่อครั้งอดีตที่ น้อยคนนักจะทราบ นั่นเพราะว่าที่ผ่านมาการจะสืบหาข้อมูลเหล่านี้ยังคงกระจัดกระจาย  แต่จากนี้ไปทุกคำถามมีคำตอบ...

"หอประวัติศาสตร์สุขภาพ" อีกหนึ่งความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ฯลฯ ในการตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์สุขภาพครั้งแรกของเมืองไทย โดยอยู่ภายใต้หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ซึ่งได้รวบรวมข้าวของชิ้นสำคัญ และประมวลทุกอย่างที่คัดสรร ภายใต้แนวคิด "100 บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว" โดยจัดแสดงเป็นโซนต่างๆ ที่เชื่อมโยงข้อมูล ความรู้ และแรงบันดาลใจ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้เข้าชมเหมือนได้สัมผัสของจริงครั้งอดีต

ล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานคณะกรรมการอำนวยการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ได้เปิดหอประวัติศาสตร์สุขภาพอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหอดังกล่าวมีพื้นที่ 400 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่ 1.โซนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต และจะไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นได้อย่างไร 2.โซนการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤต การแพทย์จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท ไม่เพียงแต่ความรู้ทางการแพทย์ในการเยียวยารักษาผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะในการจัดการสถานการณ์ที่ไม่ปกติด้วย 3.โซนภูมิปัญญาสุขภาพ หมอไทย ยาไทย เป็นภูมิปัญญาที่คนไทยได้สั่งสมสืบทอดผ่านประสบการณ์และใช้กันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ

4.โซนพหุลักษณ์ทางการแพทย์ เป็นค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ต่างกันไปตามวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการรักษาโรคของแต่ละพื้นที่ก็เป็นความเชื่อที่ต่างกันไป 5.โซนชีวิตความเป็นอยู่ โดยจะสัมพันธ์กับวิถีสุขภาพ การกลับมาหาความสมดุลด้วยวิถีธรรมชาติ 6.โซนจักรวาลภายใน จักรวาลภายนอก เป็นการสร้างความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 7.โซนภาพกับสังคม ทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร 8.โซนความตายและวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าการแพทย์จะพัฒนามากเท่าใด ก็ไม่เคยเอาชนะความตายได้ การเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ และ 9.โซนรอยเวลาเส้นทางสุขภาพไทย สะท้อนถึงแนวคิดและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการแพทย์ในแต่ละยุคสมัย

หอประวัติศาสตร์แห่งนี้ ยังรวมตำรายา สมุนไพรต่างๆ ในการบำบัดรักษาโรค ซึ่งรวบรวมของเก่าย้อนหลังนานกว่า 100 ปี อีกทั้ง ยังจัดแสดงเครื่องมือ ทางการแพทย์ที่เคยใช้ในอดีต อาทิ จักรยานของพยาบาลที่ใช้เยี่ยมคนไข้ในอดีต จะมีกระติกวัคซีนขนาดเล็ก ซึ่งแช่เย็นได้นาน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังนำข้อมูลการศึกษาค้นคว้าวิจัยของบุคลากรสุขภาพไทยในอดีตมาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา อาทิ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีอุปการะคุณต่อสังคมไทย ในการปราบโรคอหิวาต์ที่อัมพวา

หากสนใจสามารถเข้าชมและร่วมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ใน วันเวลาราชการ บริเวณชั้น 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสีย ค่าบริการใดๆ

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556