ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาคประชาชนเรียกร้อง "ยิ่งลักษณ์-โอฬาร" ใช้อินเดียโมเดลประกาศจุดยืนเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้ชัด ไม่ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร-ผูกขาดข้อมูลยาเกินข้อตกลง WTO หวั่นอ่อนข้อรัฐแบกภาระอื้อกว่าแสนล้านต่อปีจากซื้อยาแพง อัดคิดสั้นทำเอฟทีเอชดเชยถูกตัดจีเอสพี ด้านก.พาณิชย์ยันเจรจารอบคอบ ล่าสุดสั่งตั้ง 2 คณะทำงานประสานข้อมูลเอกชนก่อนลุย

จากกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เตรียมเดินทางเยือนประเทศเบลเยียมเพื่อประกาศเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มีนาคมศกนี้ ได้เพิ่มอุณหภูมิความกังวลใจของภาคประชาสังคมในประ เด็นการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา การเจรจาในสินค้าแอลกอฮอล์ และยาสูบซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวและหวั่นเกรงไทยจะเสียเปรียบมากขึ้นตามลำดับ

จี้ยิ่งลักษณ์ประกาศจุดยืน

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อยากเสนอรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ประธานผู้แทนการค้าไทย (ดร.โอฬาร  ไชยประวัติ หัวหน้าทีมเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศจุดยืนการเจรจาในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิบัตรยา และการผูกขาดข้อมูลยาของอียูที่ชัด เจนว่าไทยจะให้การคุ้มครองไม่เกิน 20 ปี จากที่กรอบเจรจาของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้นำเสนอระบุจะให้การคุ้มครองในระดับที่สอดคล้องกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือ TRIPs ที่กำหนดให้การคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งแปลความหมายว่า หากจะ ให้การคุ้มครองมากกว่า เช่น 25 ปี หรือมากกว่านั้น (TRIPs Plus) ก็ถือว่าทำได้ไม่ผิดความตกลง

"อยากให้รัฐบาลไทยประกาศจุด ยืนการเจรจาประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องสิทธิบัตรยา และการผูก ขาดข้อมูลยาให้ชัด เพราะในร่างกรอบเจรจาก็ไม่มีการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะให้การคุ้มครองกี่ปี ซึ่งหวั่นเกรงว่าคณะเจรจาจะไปยอมรับข้อเสนอของอียูทำให้ไทยเสียเปรียบ ในเรื่องนี้เราควรใช้กรณีศึกษาของอินเดียที่เจรจาเอฟทีเอกับอียู ซึ่งในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีพาณิชย์ รัฐมนตรีสาธารณสุขของอินเดียได้ประกาศจุด ยืนในการเจรจาอย่างชัดเจน และประกาศ ทุกเวทีโลกว่าเขาจะให้การคุ้มครองไม่เกินความตกลงของ WTO โดยอ้างเหตุ ผลเกรงประชาชนจะมีปัญหาการเข้าถึงยา ต้องซื้อหายาในราคาแพง และคนของเขาที่ยากจนยังมีจำนวนมาก ในที่สุดอียูก็ยอมไม่เรียกร้องเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอินเดีย-อียูได้เจรจาจบลงแล้วและอยู่ระหว่างเจรจาในประเด็น ด้านการลงทุน"

ชี้เดือดร้อน-GSP แลกไม่ได้

ด้านดร.บัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนา สังคม และสิ่งแวดล้อม สมาชิกกลุ่มศึกษา ข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า จากงานศึกษาถึงผลกระทบที่อียูเรียกร้องให้ไทยเพิ่มระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในความตกลง TRIPs ของ WTO เช่นการขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 เป็น 25 ปีหรือมากกว่านั้น รวมถึงการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ประเมินว่า หากไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลยาจะมีผลกระทบต่องบประมาณรัฐบาลไม่ต่ำกว่าปีละ 8.13 หมื่นล้านบาท และจากการขยายอายุสิทธิบัตรยาอีก ปีละไม่ต่ำกว่า 2.78 หมื่นล้านบาท (รวม 2 เรื่อง 1.09  แสนล้านบาท) เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดยาวนานขึ้น ประชาชน ใช้ยาราคาแพงขึ้น และคนยากจนอีกเป็นจำนวนมากจะเข้าไม่ถึงยาในกลุ่มบัญชียาหลักที่มีคุณภาพในการรักษา

ขณะที่ในพื้นฐานการเจรจาเอฟทีเอกับอียูที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายหนึ่งอย่างชัดเจนคือเพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีที่สินค้าไทยทุกรายการจะถูกตัดสิทธิในปี 2558 โดยระบุจะส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขการส่งออกหายไปในปี 2558 ราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจจะสูญเสียไม่มาก กว่าที่คาด เพราะตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้มี การประเมินผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซนในปัจจุบัน ขณะที่ในกรอบความตกลงของ WTO ที่หลายประเทศของอียูเป็นสมาชิก หลายสินค้าก็ต้องลดภาษีลงมาอยู่แล้ว รวมถึงข้อตกลงเอเชีย-ยุโรป (อา- เซม) หลายสินค้าก็ได้ลดภาษีต่ำสามารถลดผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพีได้

FTAไทย-อียูน้ำหนักน้อย

ขณะที่ดร.ปิติ  ศรีแสงนาม รองผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลกับครม.ถึง 5 ข้อที่ไทยต้องเจรจาเอฟทีเอกับอียู ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยมีน้ำหนักเพียงพอ เหตุผล แรก ถ้าไทยไม่เจรจาจะสูญเสียความเป็นศูนย์ กลาง (ฮับ) ของอาเซียนในหลายด้าน ซึ่งฟังไม่ขึ้นเพราะเวลานี้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรปก็ใช้ไทยเป็นฐานผลิตมานาน และส่วนใหญ่ยังไม่คิดย้ายไปไหน

เหตุผลที่ 2 ไทยกำลังจะสูญเสียจีเอสพีที่อียูเคยให้ ซึ่งจะทำให้หลายสิน ค้าสำคัญของไทยได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเล ยางรถยนต์ สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง เป็นต้น แต่อีกด้านหนึ่งการถูกตัดแสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาของประเทศ ไทย เหตุผลที่ 3 ถ้าไม่จัดทำเอฟทีเอ ค่ายรถยนต์ของยุโรปจะย้ายฐานการผลิตจากไทย ในข้อเท็จจริงรถค่ายยุโรปก็ไม่ได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมานานแล้ว เหตุผลที่ 4 ยุโรปอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จะทำ ให้เจรจาง่าย มองว่าไม่จริง เพราะยิ่งในยาม วิกฤติ เขาต้องระมัดระวังในการเจรจามาก ขึ้น และเหตุผลที่ 5 ไทยอยู่ในช่วงการเจรจาเอฟทีเอช่วงที่ 2 ซึ่งจะใช้เอฟทีเอไทย-อียูเป็นสนามทดลองในการเจรจาอีกหลายเอฟทีเอ เช่น TPP (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) FTAAP(เอฟทีเอระหว่างสมาชิก ของเอเปก) ซึ่งในข้อเท็จจริงแต่ละเอฟทีเอมีรายละเอียดที่ต่างกัน

"นาทีนี้สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลนอกเหนือจากประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาแล้ว คือกรอบเจรจาที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และล่าสุดคือรัฐสภาที่เขียนค่อนข้างกว้างมาก ขณะที่การเจรจาจะครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งในหลายเซ็กเตอร์เราไม่มีความพร้อมและเสียเปรียบ เช่น การเปิดเสรีด้านการเงิน การเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ที่เราไม่อยากให้เปิดเสรี แต่เขาต้องการส่งออกมายังเรา รวมถึงอียูยังเก่งในสินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์"

ดร.ปิติ กล่าวอีกว่าอียูมีกรอบและท่าทีในการเจรจาเอฟทีเอในแต่ละประเด็น ที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ไทยทำกรอบเจรจาแบบกว้างๆ และการเจรจาแต่ละเรื่องขึ้นกับการตัดสินใจของคณะเจรจา ที่ผ่านมาก็ยังฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียไม่ครบ และฟังผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นหลักถือเป็นอันตรายหากเปิดเสรีแล้วกระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเป็นภาคธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ

ตั้ง 2 คณะทำงานประสานข้อมูล

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ล่าสุดกระ ทรวงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประ กอบด้วย คณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างภาครัฐ-เอกชน และสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูอย่างต่อเนื่อง และคณะกรรมการประสานงานความร่วมมืออำนวยความสะดวกทางด้านการค้ากับภาคเอกชน โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาให้การสนับสนุนเพื่อดูแลการเจรจา รวมถึงดูแลประเด็นอ่อนไหวทุกเรื่องบนโต๊ะเจรจา โดยจะประสานงาน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับตัวแทนจากสภาหอการค้าแห่งประ เทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย และ สมาคมธนาคารไทย  รวมทั้งจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพบกับประ ธานคณะกรรมาธิการอียู ที่ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 4 -6 มีนาคมนี้ ล่าสุดทางทูตอียูได้แจ้งว่า คณะกรรมาธิการอียู ได้เวียนหนังสือคำยืนยันที่จะเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู กับสมาชิกอียูทุกประเทศแล้ว ซึ่งจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการร่วมกันได้ ในวันที่ 6 มีนาคมนี้

รับปากเจรจาอย่างรอบคอบ

นายบุญทรง กล่าวย้ำว่า สำหรับประเด็นเรื่องยา จะให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อหาทางออก และหารือกับภาคประชาสังคม โดยยืนยันจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ไทยเสียผลประโยชน์ และจะต้องอยู่ภายใต้กรอบ WTO

ด้านนางพิรมล  เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ทางคณะได้รับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายมาค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งจะได้สรุปเป็นท่าทีจุดยืนในการเจรจาไม่ให้เสียเปรียบเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องสิทธิบัตรยาจะให้การคุ้มครองไม่มากไปกว่าข้อตกลงของ WTO แน่นอน ส่วนข้อกังวลเรื่อง การผูกขาดข้อมูลยาก็ได้หาทางแก้ไว้แล้ว เช่น การอนุมัติการขึ้นทะเบียนให้เร็วขึ้น เช่นจาก 4 ปีให้เหลือเพียง 2 ปี เพื่อลดเวลาการผูกขาดลงเป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21 - 23 ก.พ. 2556