ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บอร์ด สปส.เพิ่มฟอกไตเป็น 1.5 พัน ใช้ เม.ย.มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทองรับบริการทั้งสิ้น 27,253 คน สปสช.หนุนใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้อง ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต้องรอคิวนาน

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.เสนอให้เพิ่มค่าฟอกไตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจากอัตราเดิมที่กำหนดครั้งละ 1,000 บาท เป็น 1,500 บาท และจากสัปดาห์ละ 3,000 บาท เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 4,500 บาท รวมไปถึงเห็นชอบเรื่องการโอนสิทธิ์ผู้ป่วยข้ามกองทุน ระหว่างกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสามารถโอนสิทธิข้ามระหว่างกันได้ โดยผู้ป่วยยังคงได้รับสิทธิ์ในการรักษาเช่นเดิม เสนอให้ประธานคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส. ลงนาม โดยคาดว่าจะเริ่มมีใช้ได้ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า ปัจจุบันสปสช.มีการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยมีบริการการผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 มีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทุกปี ทั้งการบำบัดรักษาในผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 23.69 ซึ่งปีงบประมาณ 2555 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 27,253 คน

สำหรับวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องถือเป็นแนวทางที่ สปสช.ให้การสนับสนุน เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องรอคิวในการฟอกเลือดนาน หรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และยังช่วยลดการติดเชื้อได้อีกด้วย โดยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะได้รับบริการครอบคลุมทั้งการผ่าตัดวางสายล้างช่องท้อง การนัดและดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องรวมถึงการสนับสนุนน้ำยาล้างไต การให้ยาพื้นฐาน ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคอื่นที่จำเป็น และการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา ซึ่งจากการติดตามพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่เลือกการล้างไตผ่านหน้าท้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"ตั้งแต่เริ่มโครงการปีงบประมาณ 2551 - 2555 มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง คิดเป็นร้อยละ 118.29 โดยมีผู้ป่วยลงทะเบียนทั้งสิ้น 20,390 คน เป็นผู้ป่วยที่ยังรับบริการในระบบ 11,581 คน หรือร้อยละ 56.80 ของผู้ลงทะเบียน และออกจากระบบจากการเสียชีวิตและเปลี่ยนวิธีการรักษาจากการล้างไตผ่านช่องท้อง เป็นวิธีอื่นๆ จำนวน 8,809 คน คิดเป็นร้อยละ 43.20" นพ.วินัย กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 มีนาคม 2556