ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐบาลจีนพยายามหาทางแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประชากรในชนบท เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพทางสังคมโดยดึงดูดให้แพทย์ที่เกษียณแล้วไปประจำอยู่ในชนบท

นายเฉิน จู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจีน ได้วางแผนและนำร่องโครงการเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการทางสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาที่กำลังผลักดันความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมของประเทศอยู่ และหากปล่อยไว้ อาจส่งผลกระทบทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางสังคม

ในปัจจุบันหัวเมืองใหญ่อย่าง กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ล้วนแต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการแพทย์ที่ก้าวหน้าสำหรับบุคคลที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ แต่สำหรับเมืองตามชนบทนั้น รัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาการบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนได้

การที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่พอใจที่จะอยู่ในหัวเมืองใหญ่มากกว่า ยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันขยายวงกว้างมากขึ้น สถานการณ์ที่ทำให้นายเฉินเดินหน้าผลักดันมาตรการต่างๆ เช่น การศึกษาฟรี เพื่อดึงดูดแพทย์ไปทำงานในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอยู่

รัฐมนตรีสาธารณสุขรายนี้ แถลงร่วมกับตัวแทนองค์การอนามัยโลก (ฮู) ถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุขของจีนว่า กระทรวงสาธารณสุขยังเสนอให้มีระบบทดสอบคัดเลือกแพทย์ใหม่ ที่จะลดระดับมาตรฐานการสอบเข้าสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่มีเป้าหมายไปรักษาคนไข้ในชนบทหลังจากจบการศึกษา

นอกจากนี้ แพทย์ที่เกษียณแล้วจะถูกเชิญไปรักษาที่สถานีอนามัยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของระบบสอบรูปแบบใหม่ หรือแผนการสำหรับแพทย์ที่เกษียณแล้วแต่อย่างใด

ข้อกำหนดของรัฐบาลจีนกำหนดให้แพทย์ชายที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลเกษียณขณะอายุ 60 ปี และแพทย์หญิงเกษียณที่อายุ 55 ปี หลังจากนั้นโรงพยาบาลเอกชนสามารถว่าจ้างแพทย์เหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ

นายเฉิน ระบุด้วยว่ามีความพยายามที่จะสร้างโรงพยาบาลประจำตำบล และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทางการแพทย์ในชนบท เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลใหญ่ตามหัวเมืองใหญ่ อีกทั้งยังเสริมว่า ปีนี้เป็นปีที่สำคัญมากสำหรับการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพราะประชาชนล้วนแต่คาดหวังถึงระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น

บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังวางแผนที่จะปรับปรุงอัตราการชำระเงินค่ารักษาคืนให้แก่ครอบครัวชนบทที่ประสบกับโรคร้ายแรง โดยในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลมีอัตราการชำระเงินค่ารักษาคืนที่ 70% สำหรับประชาชนในชนบท แต่ปัญหาคืออีก 30% ที่ประชาชนในชนบทต้องชำระเองนั้น นับเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับคนเหล่านี้

กระทรวงสาธารณสุข ยังจะขยายการซื้อยาจำเป็นพื้นฐานสำหรับชาวจีน เช่นยาแผนปัจจุบัน และยาแผนโบราณสำหรับรักษาโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง และจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลประจำมณฑล

ในปัจจุบัน จีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก กำลังอยู่ในช่วงยกเครื่องระบบสาธารณสุขที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเงินเป็นจำนวนถึง 125,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายขอบเขตการครอบคลุมการประกันสุขภาพให้เข้าถึง 95% ของประชากรทั้งหมด

ที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจน ซึ่งเด่นชัดมากระหว่างชาวเมือง และคนชนบท นับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับรัฐบาลจีนชุดใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศในเดือนมี.ค.นี้ หลังจากที่มีการประชุมสภาผู้แทนประชาชนของจีน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์เซาท์เวสต์เทิร์นของจีน รายงานว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยในเมืองในปี 2553 อยู่ที่ประมาณ 4,500 ดอลลาร์ มากกว่ารายได้เฉลี่ยของผู้อยู่อาศัยตามชนบทถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ ความไม่เท่าเทียมทางระบบสาธารณสุข นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนสะดุด และก่อให้เกิดความระส่ำระสายทางสังคม

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประกาศเมื่อหลายปีมาแล้วถึงแผนการที่จะขยายเครือข่ายโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ประชาชนตามหมู่บ้านขนาดเล็ก และในชนบท ยังต้องเดินทางนับพันกิโลเมตร เพื่อที่จะเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในเมือง เพราะการรักษาที่บ้านเกิดนั้นยังไม่สามารถรักษาได้ หรือมาตรฐานสู้โรงพยาบาลในเมืองไม่ได้

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือสถานการณ์คนไข้เบียดเสียดกันในโรงพยาบาลเมือง ซึ่งผู้ป่วยบางคนสูญเสียเวลาไปกับการรอคอยหลายวัน บางคนถึงกับขั้นหลายสัปดาห์ ในห้องรอที่แออัดไปด้วยผู้ป่วย

นายหวัง จิน ผู้ให้คำปรึกษาทางด้านสาธารณสุขจากบริษัท แมคคินซีย์กล่าวว่า ภาคกลางและตะวันออกของจีนเป็นส่วนที่ยังไม่รับการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาภูมิภาคนี้ แต่ช่องว่างระหว่างภูมิภาคนี้ และภูมิภาคที่ระบบสาธารณสุขพัฒนาแล้วยังห่างกันอยู่มาก

นายหวัง กล่าวด้วยว่า แม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาปริมาณของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบท แต่ผู้นำในอนาคตยังจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ และความสามารถของการรักษาด้วย เนื่องจากทักษะของแพทย์ในชนบทยังไม่สูงพอ ทั้งยังมีความสามารถจำกัดในด้านการผ่าตัด และรักษาโรคบางชนิด"รัฐบาลยังจัดหาบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานให้กับชาวชนบททุกคนไม่ได้"

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มีนาคม 2556