ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วอชิงตัน - คณะนักวิจัยรักษาทารกติดเชื้อเอชไอวี ได้เป็นรายแรกของโลก นำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาทารกติดเชื้อเอชไอวีที่ดีขึ้น

คณะนักวิจัยนำโดยน.ส.เดบอราห์ เพอร์ซอดแห่งศูนย์เด็ก โรงพยาบาลจอห์นส์ฮอปกินส์ สหรัฐ กล่าวว่าสามารถรักษาทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เกิด ได้เป็นครั้งแรกของโลก แม้เป็นการรักษาแบบระยะยาว แทนที่การรักษาแบบหายขาด

ในการรักษาดังกล่าวไวรัสยังไม่ถูกกำจัดหมดสิ้น แต่ลดลงเหลือระดับต่ำมากจนร่างกายสามารถควบคุมได้ ชนิดที่ไม่ต้องการการยารักษาแบบมาตรฐาน คณะนักวิจัยชี้ว่าการให้ยาต้านไวรัสโดยทันทีแก่ทารกแรกเกิดอาจช่วยให้เด็กไม่ต้องกินยาต้านไปตลอดชีวิต เพราะป้องกัน ไม่ให้ที่หลบซ่อนตัวของไวรัสก่อตัวตั้งแต่ต้น

จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพียงคนเดียวในโลกที่ได้รับการรักษาจนหายขาด คือนายทิโมธี บราวน์ ชาวอเมริกัน เขารับการรักษาเชื้อเอชวี และมะเร็งเม็ดเลือดขาวนาน 5 ปี หลังจากรับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่ร่างกายสามารถต้านเอชไอวีได้โดยธรรมชาติ เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการปลูกถ่ายไขกระดูกคือเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

ขณะที่ในรายของทารกเพศหญิงนี้ไม่ได้รับเชื้อหรืออะไรที่ซับซ้อนไปกว่ายาต้านไวรัสที่มีอยู่ แต่จุดต่างอยู่ที่ปริมาณและระยะเวลา นั่นคือเริ่มให้ยาหลังจากลืมตาดูโลกไม่ถึง 30 ชั่วโมง นักวิจัยชี้ว่าการรักษาเชิงรุกดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ไวรัสลดลง

ทารกคนนี้ติดเชื้อเพราะมารดามีเชื้อเอชไอวี และการรักษาได้เริ่มขึ้นก่อนผลตรวจเลือดออกมา ปกติวิธีรักษาทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงสูงจะมีการให้ยาปริมาณน้อยจนกว่าผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีจะออกมาเมื่ออายุได้ 6 สัปดาห์

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มีนาคม 2556