ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักวิจัยจี้สรรพสามิตเก็บภาษียาเส้นเพิ่ม 1 บาทต่อซอง หลังพบเยาวชนอายุ 15-18 ปีนิยมสูบ เฉพาะ จ.สุโขทัยเพิ่มกว่า 60%

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าวเรื่องภาวะโรคและต้นทุนที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่ โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณ 5.4 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองจำนวน 6 แสนคน ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านคนทั่วโลก

ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ม.มหิดล กล่าวว่า การสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในประเทศไทย พบว่าอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่มวนเอง 46.5% โดยเฉพาะในบุหรี่มวนเองนั้นจะพบว่ามีเยาวชนอายุ 15-18 ปี นิยมสูบเพิ่มมากขึ้น 60% ที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกยาเส้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากยาเส้นราคาถูก แม้จะมีการเพิ่มภาษีไปเมื่อเดือน ส.ค.2555 ในอัตรากิโลกรัมละ 10 บาทก็ตาม แต่ถือเป็นจำนวนไม่มาก ทำให้ไม่มีการขึ้นราคายาเส้นจากที่ขายอยู่ในปัจจุบันซองละ 5 บาท อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมยาเส้นพันธุ์พื้นเมือง

ดังนั้นอยากให้กรมสรรพสามิตเพิ่มภาษียาเส้น โดยรวมถึงพันธุ์พื้นเมืองเข้าไปด้วยจำนวนซองละ 1 บาท ซึ่งจะทำให้ราคาขายต่อซองเพิ่มเป็น 6 บาท โดยควรออกเป็นพระราชกำหนดการแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้จะทำให้เก็บภาษีในส่วนนี้ประมาณ 800 กว่าล้านบาท และจะทำให้ลดจำนวนนักสูบลง 2 แสนคน

"ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราทำได้ ทำให้ลดจำนวนนักสูบลงมาเหลือ 10 ล้านคน แต่ตอนนี้อัตราการสูบไม่ลดแล้ว เพราะไม่มีการเพิ่มภาษียาเส้น ขณะที่ในหมู่บ้านบ้านเองก็ไม่มีมาตรการเรื่องพื้นที่สูบบุหรี่ ดังนั้นจึงอยากให้สังคมเล็งเห็นเรื่องนี้มากขึ้น" ดร.ศิริวรรณกล่าวและว่า การเก็บภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมืองไม่ได้เก็บจากเกษตรกร แต่จะให้เก็บกับโรงงานเช่นเดิม เพราะฉะนั้นคุณตา คุณยายที่หั่นใบยาสูบใช้เองก็ไม่ต้องเสียภาษี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 มีนาคม 2556