ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คร.จัดอบรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลชุมชน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสูงถึง ร้อยละ 6.9 ทำให้ผู้ป่วยต้องรักษาเพิ่ม 11 วัน เสียค่ายาที่ใช้รักษา ปีละ 4,000 ล้านบาท

วานนี้(5 มี.ค.) พญ.วราภรณ์  ภูมิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานในการอบรม เรื่อง "การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลชุมชน" กล่าวว่าจากข้อมูลพบว่า โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของทุกประเทศ ผู้ป่วยจำนวนมากที่ติดเชื้อในระหว่างเข้ารับการรักษา ส่งผลกระทบต่อชีวิตและค่าใช้จ่าย  จากการสำรวจปี 2554 พบว่า มีความชุกของการติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 6.9 และผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่ม 11 วัน เฉพาะค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท อีกทั้งยังพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลส่วนหนึ่งพบเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพและเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานจำนวนมาก ทั้งยังส่งเสริมให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ใช้ยาราคาแพงขึ้น จากผลการศึกษาและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พบว่าเชื้อ Streptococcus Pneumoniae ที่แยกได้ในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ ดื้อยา Penicillin 46% ในปี 2541 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 63% ในปี 2546   และ Acinetobacter'spp ดื้อยา Imipenem 2% ในปี 2541 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 32% ในปี 2546 และมีแนวโน้มการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นทุกปี

พญ.วราภรณ์กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับชาติ โดยมอบหมายให้สถาบันบำราศนราดูร รับผิดชอบ พร้อมจัดการอบรมใน 2 หลักสูตร คือ การอบรมเรื่อง "การบริหารจัดการเมื่อพบเชื้อดื้อยา" กับ "การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลชุมชน" เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล นอกจากนี้จะส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญและเร่งด่วน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 6 มีนาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง