ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ที่เป็นปัญหายืดเยื้อและเรื้อรังมาอย่างยาวนาน แม้รัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาร์จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างข้ามชาติอยู่ดี

ที่สำคัญยังเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

เนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากถึง 3 ล้านคนโดยประมาณ และ 85% เป็นแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ ซึ่งแน่นอนว่าแรงงานกลุ่มนี้จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานไทย เช่น อุตสาหกรรมการประมง, อุตสาหกรรมการก่อสร้าง, อุตสาหกรรมอาหาร แช่เยือกแข็ง รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูป

ดังนั้นหากอุตสาหกรรมเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น แน่นอนว่าการเพิ่มจำนวนของแรงงานข้ามชาติจะต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงเป็นสิ่งที่ลูกจ้างข้ามชาติต้องการมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม วันนี้ความเข้าใจร่วมกันยังไม่สัมฤทธิผลที่จะทำให้นายจ้าง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างเต็มที่

ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาว จึงเกิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมปรึกษาหารือระหว่างแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง โดย "ศูนย์ศึกษาการย้ายถิ่นมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล"ร่วมกับ "สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย" และ "สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

แรงงานมีฝีมือ ขึ้นทะเบียนแค่ 2 พันคนเบื้องต้น "รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล" นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อเท็จจริง ของการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ของทั้งสองฝ่ายว่า...จากการวิจัยและศึกษาค้นคว้าเรื่องแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด พบว่าจากการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติทั้งแรงงานเมียนมาร์, กัมพูชา และลาว เข้ามาประเทศไทยมีจำนวนมาก

ข้อมูลเดือนธันวาคม 2555 จำแนกออกเป็นแรงงาน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ่อนผัน คือแรงงานไร้ทักษะ (un skill) ที่จดทะเบียนแล้วมี 167,881 คน, กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ (NV) มี 733,603 คน, กลุ่มนำเข้า (MOU) ประมาณ 93,265 คน, กลุ่มแรงงานมีทักษะ (skill) ซึ่งขณะนี้มีจำนวนแรงงานอยู่เพียง 2,068 คน และกลุ่มใต้ดิน คือแรงงานที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งไม่ทราบจำนวนแน่ชัด

"จำนวนแรงงานดังกล่าวกระจายอยู่ตามอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั่วประเทศไทย ซึ่งหากจะให้มองในเชิงลึกแล้วไม่ว่า แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาในลักษณะใด ยังถือว่าเป็นแรงงานระดับล่าง ซึ่งเราต้องยอมรับว่านายจ้างไทยยังขาดคุณสมบัติสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น อาจสืบเนื่องจากทัศนคติแบบเดิมคือนายจ้างยังไม่ยอมรับให้มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย ตรงนี้ จึงเกิดเป็นช่องว่างระหว่างแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ"

ผลศึกษา 20 ปี เปิดหัวอก "แรงงานข้ามชาติ"นอกจากนั้น "รศ.ดร.กฤตยา" ยังกล่าวอีกว่า แรงงานข้ามชาติ เหล่านี้ยังขาดสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่จำเป็นด้วย เช่น การเข้าถึงรักษาพยาบาลและบริการ, การศึกษาหาความรู้, ความคุ้มครองทางกฎหมาย, การเข้าถึงคุณภาพชีวิต และ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย

"ปัญหาเหล่านี้ถูกจับตามองมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และสามารถสรุปให้เห็นว่าหน้าที่สำคัญของรัฐ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังขาดมุมมองด้านแรงงานในการกำหนดนโยบายระยะยาวอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากสถานการณ์ และปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535-2555"

ซึ่งพอสรุปเป็นประเด็นเพื่อให้เข้าใจตรงกันดังนี้หนึ่ง เกิดการฉ้อฉล คอร์รัปชั่นจากหัวคิว (ผู้นำเข้าแรงงาน) อย่างเป็นระบบ และกว้างขวาง ทั้งยังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

สอง อัตราที่เกิดจากค่าหัวคิวมีอัตราสูงขึ้น สาม นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น ถูกกดขี่ และเอาเปรียบ

สี่ แรงงานตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ห้า เกิดบริษัทนายหน้าเอกชนรับจ้างนายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อจัดทำเอกสารปลอมต่าง ๆ

ถึงตรงนี้ "ทาน วิน" ผู้แทนแรงงานข้ามชาติจากประเทศ เมียนมาร์ กล่าวเสริมว่า แม้ว่านายจ้างจะทราบถึงประเด็นปัญหาที่สำคัญในการทำงานระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างข้ามชาติก็ตามร้องขอสิทธิ "เท่าเทียมพลเมือง"แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ปัญหาสำคัญมีทั้งหมด 5 ประเด็น คือหนึ่ง ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แม้จะมีการออกข้อบังคับใช้แล้ว แต่นายจ้างจำนวนไม่น้อยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ

สอง การจดทะเบียนของแรงงานกลุ่มพิสูจน์สัญชาติ (NV) ไม่ได้รับความสะดวกจากนายจ้าง ในทางกลับกัน หากเราต้องการสถานะเป็นแรงงานที่ถูกต้อง เราจำเป็นจะต้องเดินทางไป และออกค่าใช้จ่ายเอง เราจึงรู้สึกว่านายจ้างผลักภาระมาให้กับลูกจ้างอย่างเรา

สาม ต่อให้เราได้รับการจดทะเบียน และพิสูจน์สัญชาติ แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รีดไถค่าปรับอีกว่าบัตรที่ได้รับไม่ถูกกฎหมาย

สี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้า จึงไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ถูกต้องจากนายหน้าโดยตรง

ห้า มีจำนวน 1 ใน 3 ของแรงงานเขตจังหวัดสมุทรสาครที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคมเลย

"ผมว่าทางออกที่ดีที่สุดคือเราน่าจะร่วมมือกันระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และหน่วยงานรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหา และช่องว่างที่เกิดขึ้นร่วมกันในลักษณะประนีประนอมแบบครอบครัว ถึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาที่มีอยู่อย่างเนิ่นนานได้"

ปัญหานายหน้าค้าหัวคิว ระเบิดเวลาลูกใหม่ ทางด้าน "ธนาศักดิ์ กิจรุ่งโรจน์" รองประธานบริษัท Sea Wealth Frozen Food จำกัด ในฐานะนายจ้างกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องสิทธิประโยชน์ หรือความเหลื่อมล้ำของแรงงานเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันภายในองค์กร แต่อีกประเด็นหนึ่งที่เจอะเจอ คือ ต่อให้เราเป็นนายจ้างใช่ว่าจะไม่โดนหลอก

"เราเคยโดนหลอกจากนายหน้ามาเป็นครึ่งปี ถึงจะรู้ว่าเอกสารนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่คิดว่าถูกต้องตามกฎหมายจากนายหน้า แต่เมื่อมีการตรวจสอบย้อนกลับมันไม่ใช่ ผมจึงเชื่อว่านายจ้างหลาย ๆ คนคงเจอปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน"

"ธนาศักดิ์" ให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะโดยทั่วไปนายจ้างไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าไปติดต่อโดยตรงกับแรงงานข้ามชาติด้วยตนเอง จึงต้องพึ่งพานายหน้า และยอมที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอาจสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยที่นายจ้างจะไม่มีทางรู้ตัวเลยว่านายหน้ากำลังหลอกให้เราเป็นช่องว่างในการทำมาหากินของเขา

"แม้เรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่เนิ่นนานมากแล้ว แต่ยังไม่มี ข้อสรุปที่ตกผลึกเสียที ผมจึงไม่อยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องมองข้ามกับปัญหานี้ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน ในระหว่างประเทศ เพื่อทำให้เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของเราเติบโตขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคืออย่าสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งตามมา"

เพราะขณะนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็เป็นปัญหาเผือกร้อนของประเทศไทยอย่างหนึ่งแล้ว อย่าต้องให้เกิดปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวเลย เดี๋ยวจะบานปลายไปกันใหญ่

หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง !

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 มี.ค. 2556