ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไทยศูนย์เสียจากโรคที่เกิดเพราะสูบบุหรี่ถึง 5.2 หมื่นล้านบาท พบเยาวชนสูบแบบมวนเองเพิ่มขึ้น ศจย.ชงรัฐ ออกพ.ร.ก.แก้พ.ร.บ.ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าระบบภาษีอย่างเร่งด่วน กำหนดผู้ประกอบการยาเส้นภาษีไม่ให้เป็นภาระเกษตรกร เสนอเก็บเพิ่มซองละ 1 บาท คาดเก็บภาษีได้ปีละกว่า 800 ล้านบาท ลดจำนวนผู้สูบได้ถึง 2 แสนราย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง "ภาระโรคและต้นทุนที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ(ศจย.)สนับสนุนโดยสำนักงานการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเกตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้สำคัญที่สุด ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5.4 ล้านคน คาดว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 50,710 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 45,136 คน ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในปี 2552 มีประมาณ 12.4 ล้านคน โดยช่วงอายุที่มีผู้สูบบุหรี่มากสุดคือช่วงอายุ 15-24 ปีมีประมาณ 2 ล้านคน การสูบบุหรี่เป็นประจำยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 3-21 เท่า และมีความเสี่ยงพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากว่า 4 เท่า

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนากดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย พบว่า จากการประมาณการประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2552 เป็นเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี เป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงทางการแพทย์ 10,137 ล้านบาท ประมาณ 20% ค่าใช้จ่าย โดยอ้อมทางการแพทย์ 1,063 ล้านบาท หรือประมาณ 2%

ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย.กล่าวว่า การสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์โดยสัดส่วนผู้สูบบุหรี่มวนเองมีมากถึง 46.5% ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด และพบว่าเยาวชนอายุ 15-18 ปี สูบบุหรี่แบบมวนเองเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีจากบุหรี่มวนเองน้อยมาก แม่จะมีการเพิ่มภาษียาเส้นปรุงจาก 1 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว แต่รัฐบาลยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ บุหรี่มวนเองที่ทำจากยาสูบพันธุ์พื้นเมืองได้รับการยกเว้นภาษี จึงเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 นำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษีไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร-

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--