ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 12 มี.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2557 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)วงเงินทั้งสิ้น 158,729 ล้านบาทประกอบด้วย1.งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ156,766.82 ล้านบาทได้แก่ งบอัตราเหมาจ่ายรายหัว หัวละ2,955.91 บาท จำนวนประชาชนผู้มีสิทธิ 49.09 ล้านคน เป็นเงิน145,126.31 ล้านบาท งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 188,000 คน วงเงิน 2,950.8 ล้านบาท

ขณะที่งบบริการผู้ป่วยเรื้อรังไตวายที่จะมีผู้รับบริการ 35,022 คน วงเงิน 5,233.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2556 ที่มีการจัดสรรงบบริการผู้ป่วยเรื้อรังไตวายอยู่ที่ 4,357.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 875 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1%

ส่วนงบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรังและผู้ป่วยติดสารเสพติดที่สมัครใจรับการบำบัดที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 3.33 ล้านคน วงเงิน 1,330 ล้านบาทนั้น

พบว่างบบริการควบคุมความรุนแรงผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มจาก 410 ล้านบาทในปีงบ 2556 เป็น 935.68 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 525.59 ล้านบาท คิดเป็น 128.2% 2.งบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน1,962.18 ล้านบาท ได้แก่ งบลงทุนด้านการพัฒนาระบบข้อมูล 194 ล้านบาท งบดำเนินการตามภารกิจและยุทธศาสตร์ 1,145 ล้านบาท และงบรายจ่ายประจำ อาทิ ค่าบุคลากร ค่าเช่าทรัพย์สิน และค่าสาธารณูปโภค622 ล้านบาท

เมื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอของบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบ2557 จะพบว่างบอัตราเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 2,955.91 บาทต่อตัวต่อปีเป็นเงิน 145,126.31 ล้านบาท เทียบกับงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวปีงบ2556 อยู่ที่อัตรา 2,910.56 บาทต่อหัวต่อปี เป็นเงิน 142,899.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6%

อย่างไรก็ตาม การเสนองบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฯ ปีงบ 2557 ยังไม่รวมนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงของรัฐบาล ได้แก่ การเพิ่มค่าครองชีพให้ผู้จบปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ 3,000 คน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอว่า สปสช.ควรศึกษาและดำเนินการใช้แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐบาลและผู้ป่วยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้บริการเฉพาะโรค และต้องมีการควบคุมระดับค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มีนาคม 2556