ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผ่าโครงสร้างใหม่กระทรวงหมอ ดึง สสส. สพฉ. สปสช.มาดูแลเอง

การจัดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) จัดทำแผนปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงสธ. เพื่อแก้ปัญหาด้านภาระการเงินการคลังของโรงพยาบาล ปัญหาด้านกำลังคน รวมถึงกำหนดบทบาทใหม่ทั้งในฐานะของผู้ให้บริการและในฐานะผู้กำหนดหลักเกณฑ์ แล้วเสร็จลงเมื่อวันที่6 มี.ค.ที่ผ่านมา

เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการประสานงานระหว่างกรมในสังกัด สธ. และกลุ่มงานในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เช่น กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้มากขึ้น โดยให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และประเมินผล กลุ่มภารกิจบริหารกองทุนและกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายผู้ให้บริการ สปสช. ส่วนการตั้งสำนักงานเขตสุขภาพ 12 เขต ก็จะประสานกับสำนักงาน13 เขตของ สปสช.อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกลุ่มของหน่วยงานที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน ได้แก่งานการจัดทำมาตรฐาน ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสถาบันการแพทย์เฉพาะทางอยู่กับกรมการแพทย์กรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ขณะที่งานการส่งเสริมสุขภาพ ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยู่กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) อยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สำหรับข้อมูลกลางในระบบประกันสุขภาพ ได้มอบหมายให้ สปสช. ดูแลทั้งประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และที่อยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พร้อมกันนี้ ยังให้มีคณะกรรมการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมกัน คณะกรรมการรณรงค์การลดใช้ยา และคณะกรรมการวางระบบติดตามประเมินผล 3 กองทุน

ขณะที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลนั้น จะให้ สรพ. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำมาตรฐานโรงพยาบาลสำหรับประเมินคุณภาพ

ทั้งนี้ การจัดกลุ่มบริหารโดยดึงหน่วยงานอิสระ อาทิ สปสช. สพฉ. สสส. เข้ามาทำงานร่วมกับหน่วยงานของ สธ.นั้น จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรองปลัด สธ.ตามที่ นพ.ประดิษฐ ได้แบ่งภารกิจไว้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มีนาคม 2556