ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อนพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาระบุว่า มีการจ่ายใต้โต๊ะจากโรงพยาบาลเอกชนให้กับมูลนิธิกู้ชีพ-กู้ภัย เมื่อนำผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถมารักษาตัวที่โรงพยาบาล และเรียกเก็บเงินจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ครั้งละ 1.5 หมื่นบาท

โดยหลักการกองทุนนี้กำหนดให้บริษัทประกันภัยเอกชนเป็นผู้ดูแลเงินกองทุนซึ่งมีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาทและแบ่งเป็นค่าชดเชยสำหรับรักษาพยาบาลประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท/ปี ส่วนที่เหลือให้ถือเป็นค่าดำเนินการ โดยเงินกองทุนทั้งหมดมาจากเบี้ยประกันภัยเอกชน มาจ่ายให้หากผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุ และต้องรับการรักษาจากโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หลักการเบิกจ่ายกองทุนดังกล่าวเต็มไปด้วยความยุ่งยากและใช้เอกสารจำนวนมาก จนผู้ประสบเหตุหลายคนหันไปใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรประกันสังคมแทน ทั้งที่สามารถใช้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถในการเบิกจ่ายได้และสามารถจ่ายให้ทันที 1.5 หมื่นบาท

ที่ผ่านมา มีความพยายามหลายครั้ง ทั้งจากฝั่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนักวิชาการ ฯลฯ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้ามาดูแลกองทุนนี้แทน ล่าสุดปลายปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามจัดระบบอีกครั้ง ทั้งกระบวนการโอนจ่ายเงินให้ง่ายขึ้น และการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ให้โอนเงินกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาอยู่ฝั่ง สธ. แทนที่จะไปอยู่กับฝ่ายประกันภัย แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็เงียบไปกับสายลม

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2556