ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 

โจมตีกลางวงประชุม! “หมอประดิษฐ” อึ้งเจอกลุ่มแพทย์ชนบทแต่งดำกว่า 150 คน บุกพบคาเก้าอี้ประธานประชุมค่าตอบแทน แม้ ปลัด สธ.เข้าสกัดห้ามแต่ไม่ฟัง เครื่องร้อนยื่นหนังสือร้องถูกตัดเบี้ยกันดาร ชี้มีประโยชน์แอบแฝงเอื้อ รพ.เอกชนดึงแพทย์ พร้อมยื่นถอดถอนพ้นตำแหน่ง ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรมอีกต่อไป “หมอณรงค์” แจงเปลี่ยนพื้นที่กันดารเป็นพื้นที่เฉพาะ ยังรับเงินเหมือนเดิม ส่วนที่ปรับเป็นชุมชนเมืองรับเงินตามภาระงาน รมว.สธ.ชี้เงินค่าตอบแทนไม่มาก ถือเป็นเรื่องของน้ำใจ ย้ำให้มากกว่านี้อีก 3 เท่า แต่ไม่มีน้ำใจก็ดึงไว้ระบบไม่ได้

เวลา 14.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สวมชุดดำ ประมาณ 150 คน นำโดย นพ.เกียงศักด์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล เดินทางมาเรียกร้องและคัดค้านกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ปรับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวพื้นที่ทุรกันดาร เป็นการจ่ายตามภาระงาน (P4P) โดยในวันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคน สธ. ที่มีหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุม มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. เป็นประธานการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปรับเปลี่ยนอัตราค่าเหมาจ่ายฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มแพทย์ชนบทได้รวมตัวบริเวณลานใต้อาคารสำนักงานปลัด โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางลงมาชี้แจงแต่โดนกลุ่มแพทย์ชนบทไล่ และระหว่างประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ กำลังดำเนินอยู่นั้น กลุ่มแพทย์ชนบท ได้เดินขึ้นไปยังห้องประชุมชั้นและพยายามจะเข้าไปยื่นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าการประชุมยังคงไม่จบ ทำให้กลุ่มแพทย์ชนบทฯ เกิดความไม่พอใจและผลักประตูเข้าไปในห้องประชุม ทั้งที่ปลัดฯยังยืนชี้แจงอยู่หน้าห้องประชุม พร้อมยื่นหนังสือ ให้ นพ.ประดิษฐ เพื่อให้ยกเลิกการใช้อัตราเบี้ยเหมาจ่ายใหม่ และเดินทางกลับทันทีที่มีการชี้แจงในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มแพทย์ชนบทที่เดินทางมาในครั้งนี้ มีทั้งจังหวัดที่อยู่บริเวณปริมณฑล และแพทย์ที่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สิ่งที่ สธ.ดำเนินการจะทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน รพช.ถูกตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ โดยจะใช้เป็นแบบ p4p แทนทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการแบบนี้ครอบคลุม 100% ในวันที่ 1 ต.ค.2557 ทั้งนี้ การที่ต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนตามพื้นที่กันดารอย่างปัจจุบัน เนื่องจากต้องการใช้เป็นแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานในพื้นที่ชนบท จึงไม่แน่ใจว่าการที่สธ.ดำเนินการเช่นนี้ภายในปี 2557 จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการดำเนินการแบบมีผลประโยชน์เคลือบแฝงในทางธุรกิจเอื้อภาคเอกชนในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 หรือไม่ เพราะจะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถดึงแพทย์เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น จากการค่าตอบแทนส่วนนี้หายไป จึงอยากท้าทาย สธ.ให้ประกาศดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2556 ไม่ต้องรอปี 2557 เพื่อจะได้เห็นผลกระทบ

 “ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนได้ซื้อโรงพยาบาลที่มีพื้นที่ใกล้ชายแดนเพื่อนบ้านเพื่อให้บริการสำหรับผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งหากกระทรวงปรับเบี้ยเลี้ยงในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นที่ รพ.เอกชนต้องซื้อตัวหมอ แต่หมอพร้อมจะไปอยู่ รพ.เอกชนทันที เพราะการจ่ายตามภาระงาน ค่าเฉลี่ยของ รพ.รัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันสูงมาก หากกระทรวงยังเดินหน้าวันที่ 1 เม.ย.นี้ ในช่วงวันสงกรานต์อาจมีการหารือร่วมกันเพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หยุดงานเพื่อไปรักษาเยียวยาจิตใจตนเอง จากการที่ถูก รมว.สธ.ดูถูกว่าการทำงานและรับค่าตอบแทนที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่ไม่มีศักดิ์ศรี” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลักการในการปรับเปลี่ยนเงินค่าตอบแทนนั้น จะใช้วงเงิน 26,000 ล้านบาทเหมือนเดิม ไม่ลด แต่จะเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน โดยพื้นที่ที่อยู่ยาก หรือพื้นที่เฉพาะ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทุรกันดารเดิมยังคงได้เงินอัตราตามเดิม แต่พื้นที่ปกติกำหนดให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนจากภาระงาน หรือ P4P (Pay for Performance) แทน เบื้องต้นได้จัดทำข้อเสนอ 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะ 1 เริ่ม วันที่ 1 เม.ย.56 ระยะ 2 วันที่ 1 ต.ค.56 ระยะที่ 3 วันที่ 1 ต.ค.57 ซึ่งแต่ละระยะจะมีการปรับพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ที่ไม่ทุรกันดารตามสภาพความเป็นจริง เช่น ใกล้เขตเมือง ก็จะปรับเป็นพื้นที่ปกติ และได้รับเงินแบบ P4P ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีความลำบาก ขาดแคลน ก็จะยังคงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และเพิ่มการจ่ายแบบ P4P และจะพิจารณายกระดับ รพ.อยู่พื้นที่ห่างไกลบางพื้นที่เป็น รพท. เช่น ยะลา นราธิวาส เป็นต้น

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตนไม่ติดใจกลุ่มแพทย์ชนบทที่เดินทางมาเรียกร้องในครั้งนี้ เพราะเข้าใจว่าอาจยังมีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นหน้าที่ ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องชี้แจงทุกทางทั้งวาจา และลายลักษณ์อักษร ซึ่งตนคิดว่าความเป็นห่วงเรื่องสมองไหลไป รพ.เอกชนนั้น เงินของ สธ.ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนไม่มาก ถือเป็นน้ำใจเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องที่หมอจะอยู่ในระบบเป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า ต่อให้เอาเงินให้มากกกว่านี้อีก 3 เท่า ถ้าไม่มีน้ำใจอยากทำงานเพื่อประชาชนก็ดึงหมอไว้ในระบบไม่ได้ ส่วนการที่กล่าวหาว่าตนเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น ก็ขอให้พิสูจน์ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้อยู่แล้ว ส่วนการยื่นหนังสือให้ นายกรัฐมนตรีถอดถอนตนนั้น จะนำหนังสือยื่นนายกฯให้ และหากรัฐบาลพิจารณาว่าตนไม่มีผลงานก็ยินดีน้อมรับ

ที่มา : มติชนออนไลน์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง