ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสคัดค้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางงานด้านสาธารณสุข รวมถึงกำกับดูแลงานขององค์กรอิสระด้านสาธารณสุข อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อให้งานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ว่า หลายคนเข้าใจผิดว่า เมื่อมีคณะกรรมการนี้ จะยุบหน่วยงานตระกูล ส. แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ องค์กรอิสระเหล่านี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เฉพาะ เพียงแต่ต้องการปรับให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง และรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ส่วนที่หลายคนมองว่า อาจซ้ำกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นั้น ข้อเท็จจริง คสช.ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา แต่คณะกรรมการใหม่จะทำหน้าที่พิจารณาแทน ครม. ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น เหมือนหน้าที่ของ ครม.เศรษฐกิจ

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า องค์กรเหล่านี้ล้วนทำงานอย่างเป็นอิสระ มีกฎหมายเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เท่ากับไปครอบการทำงานขององค์กรดังกล่าว อาจมีการแทรกแซงอำนาจหน้าที่ และไม่เป็นอิสระอีกต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 มีนาคม 2556