ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หลายคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่วนใหญ่มักเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียแบบเลือดตกยางออก แต่มีหนึ่งคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 แม้ไม่ปรากฏภาพน่าหวาดเสียวหรือสยดสยอง แต่เป็นคดีอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายรุนแรง  ที่สำคัญคดีดังกล่าวได้สร้างความแปดเปื้อนเชื่อมโยงถึงบุคคลในแวดวงราชการ  หลังพบเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้าสารตั้งต้นยาเสพติด

คดีการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนประกอบออกจากระบบของโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลายแห่ง เพื่อส่งไปยังชายแดนให้ขบวนการค้ายาเสพติดนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์ ได้เกาะติดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

แม้คดีดังกล่าวจะเริ่มเงียบหายไปจากสังคมบ้างก็ตาม เนื่องจากในขั้นตอนการสอบสวนหาพยานหลักฐานเอาผิดคดีอาญากับกลุ่มผู้ร่วมขบวนการทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ให้จัดการได้ทั้งขบวนการไม่เพียงต้องอาศัยระยะเวลา แต่การรวบรวมหลักฐานให้สามารถส่งฟ้องเอาผิดตามกฎหมายได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่หลุดรอดในชั้นฟ้องร้องถือเป็นห้วงเวลาสำคัญของพนักงานสอบ สวน ซึ่งมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับอัยการเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้มีผลสอบความผิดทางวินัยข้าราชการออกมาอย่างเป็นทางการจากชุดตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขต้นสังกัด ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงความผิดปกติในการสั่งซื้อและการหายไปของซูโดอีเฟดรีนจากระบบโรงพยาบาลรัฐ  ผลสอบพบความผิดปกติเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. รพ.อุดรธานี  จ.อุดรธานี  2. รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์  3. รพ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู4. รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง 5. รพ.ภูสิงห์จ.ศรีสะเกษ 6. รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์  7. รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 8. รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ 9. รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้มีการเสนอลงโทษทางวินัยกับข้าราชการรวม 23 ราย แบ่งเป็นลงโทษวินัยร้ายแรง 5 ราย วินัยไม่ร้ายแรง 18 ราย และอยู่ระหว่างการสอบวินัยร้ายแรงอีก 1 ราย เป็นระดับผอ.โรงพยาบาล สำหรับความผิดวินัยร้ายแรงให้ไล่ออก 5 ราย ระดับเภสัชกร ส่วนการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง มีทั้งการหักเงินเดือนการภาคทัณฑ์และการว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 18 รายนั้น มีทั้งระดับ ผอ.รพ., รอง ผอ.รพ., นพ.ผู้เชี่ยวชาญ, เภสัชกร  และเจ้าพนักงานเภสัชกร ฯลฯ

ในขณะที่ทางต้นสังกัด กระทรวงสาธารณสุขลงดาบด้านวินัย แต่ด้านการดำเนินคดีอาญาเป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอ ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว  แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังต้องการหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งขบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

การสอบสวนของดีเอสไอ แยกออกเป็น 2 คดี คือ 1. คดีลักลอบนำซูโดอีเฟดรีน ออกจากระบบรักษาของ รพ. และ 2. คดีการลักลอบนำเข้าซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศ

พ.ต.ท.พงษ์อินทร์  อินทรขาว  ผบ. สำนักคดีความมั่นคง ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยความคืบหน้าสำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอทั้ง 2 คดีว่า  คดีลักลอบนำเข้าซูโดอีเฟดรีนจากต่างประเทศมีปริมาณนำเข้ามากถึง 83%  ส่วนอีก 13% เป็นการนำซูโดอีเฟดรีนที่ออกจากระบบโรงพยาบาล ปัจจุบันยอมรับว่าแม้คดีมีความคืบหน้าช้าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้มีขั้นตอนการประสานงานยุ่งยาก โดยเฉพาะการประสานขอเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งสำเนาหลักฐานของเกาหลีใต้และไทยยังไม่สอดคล้องกัน เพราะซูโดอีเฟดรีนแม้จะเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำเข้าประเทศไทย แต่ประเทศเกาหลีใต้ซูโดอีเฟดรีนไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในการส่งออก ดังนั้น ทางการไทยจึงพยายามขอความร่วมมืออย่างใกล้ชิดให้มีการตรวจสอบการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากขั้นตอนการตรวจสอบของประเทศไทยที่มีช่องว่างจากการเอื้อประโยชน์ให้บรรยากาศการท่องเที่ยวและการค้า ทำให้การนำเข้าสินค้ามีขั้นตอนจำกัด เอกสารน้อย ซึ่งจากการตรวจสอบย้อนหลังพบความผิดปกติในช่วงวันที่ 23 ก.พ.-4 ก.ย. 2553 มีการนำเข้าและสำแดงเอกสารเท็จว่าเป็นสินค้าอื่นจำนวน 21 รายการ มีบริษัทชิปปิ้งที่นำสินค้าออกไปเกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมถึงเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรบางรายที่อาจมีส่วนรู้เห็นกับการสำแดงเอกสารเป็นเท็จ ซึ่งเบื้องต้นดีเอสไอมีหลักฐานเชื่อมโยงถึงเจ้าหน้าที่ 7 ราย

"การสอบสวนคดีลักลอบนำซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบของ รพ. ที่ผ่านมามีการขอออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมขบวนการหลายราย  รวมถึง ผอ.รพ.  เจ้าหน้าที่และเภสัชกรในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ผิดชอบตาม มาตรา 157  แต่เนื่องจากเป็นการทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน จึงต้องแยกส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รับผิดชอบไปแล้วกว่า 10 ราย"

ผบ.สำนักคดีความมั่นคง กล่าวต่อว่า คดีดังกล่าวที่ล่าช้าเพราะการแกะรอยเส้นทางการเงินต้องรอการยืนยันพยานเอกสารเป็นหลัก แต่หลักฐานทางการเงินถือเป็นพยานที่มีความหนักในการฟ้อง  ดีเอสไอจึงให้ความสำคัญกับการตรวจสอบจุดนี้  ล่าสุดยิ่งสอบสวนก็ยิ่งเห็นความเชื่อมโยงของขบวนการในภาพใหญ่ โดยเฉพาะกรณีที่พบขบวนการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศและขบวนการลักลอบนำออกจากระบบของโรงพยาบาลมีความเชื่อมโยงกัน 100% หลักฐานที่นำมาปะติดปะต่อทำให้ค่อย ๆปรากฏตัวละครที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากดีเอสไอเร่งส่งฟ้องไปก่อนหน้านี้อาจได้ผู้เกี่ยวข้องไม่ครบ

ผลการแกะรอยการเงินขณะนี้ของดีเอสไอ ยังพบว่าหัวขบวนใหญ่ในการรวบ รวมซูโดอีเฟดรีนไปผลิตเป็นยาเสพติดที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อนส่งเข้ามาขายในประเทศไทย คือ "นายฟูเฉิน" เครือญาติของขุนส่า ราชายาเสพติดรายใหญ่  โดยการตรวจสอบพบว่าเงินที่นำมาใช้จ่ายในขบวน การมาจากนายฟูเฉิน ส่งผ่านมาทางลูกน้องใกล้ชิด กระจายไปยังนายหน้าที่เป็นตัวฟอกเงิน จากนั้นจะมีกลุ่มรวบรวมยาซูโดอีเฟดรีนเพื่อส่งไปชายแดน

ขณะนี้ดีเอสไอกำลังติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อขอออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องขบวนการทั้งหมด คาดว่าอีก 2 เดือน ดีเอสไอจะสามารถรวบรวมหลักฐานของผู้เกี่ยว ข้องในเรื่องบัญชีการเงินที่รอการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบก็จะสรุปสำนวนสั่งฟ้องอัยการได้ทันที!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 มีนาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง