ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผมเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยทำงานในโรงพยาบาลภาครัฐเกิน 10 ปีขึ้นไปจะต้องเคยพบเหตุการณ์ในบางเสี้ยวบางตอนในชีวิตการทำงาน คล้ายๆกับที่คุณหมอสงวนเคยบันทึกไว้ในหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หน้า 34 ใจความว่า "วันหนึ่งในขณะที่ผมนั่งรถกลับโรงพยาบาลหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเมือง ฝนตกหนักระหว่างทางเราได้พบผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มลูกน้อยยืนเหมือนกับจะรอรถโดยสารอยู่ข้างทาง ด้วยความที่เห็นว่าฝนตกหนักและรถที่ผมนั่งอยู่มีที่ว่างพอทางด้านหลัง ผมให้คนขับรถจอดรับแม่ลูกคู่นั้น

สอบถามได้ความว่าลูกไม่สบาย จากการสังเกตสภาพของเด็กด้วยตาเด็กน่าจะเป็นปอดบวมเพราะมีอาการหายใจหอบ ผมเลยบอกกับผู้เป็นแม่ว่า รถที่นั่งอยู่เป็นรถของ รพ.และเรากำลังจะไป รพ. คงพอจะดูแลให้ลูกของเธอหายได้ เมื่อรถแล่นไปถึง รพ.ผมก็พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือแทนที่จะอุ้มลูกมาให้หมอตรวจ เธอกลับอุ้มลูกเดินออกจาก รพ.โดยไม่ยอมเข้ามารับบริการ ผมเดินตามไปถามว่า มาถึง รพ.แล้วทำไมไม่พาลูกไปให้หมอตรวจ เธออ้ำอึ้งไม่ตอบอยู่พักใหญ่ สุดท้ายคนขับรถเป็นคนท้องถิ่นได้สอบถามแทน จึงได้ความว่า เธอมีเงินเพียง 30 บาท ตั้งใจจะนำเด็กไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจาก รพ.เท่าใดนักโดยปกติเขาจะคิดค่ารักษาเพียง 20 บาท อีก 10 บาทจะเก็บไว้เป็นค่ารถโดยสารกลับบ้าน"

จะเห็นได้ว่า การเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แม้ว่าจะมี รพ.และสถานีอนามัยกระจายทั่วประเทศ แต่ค่ารักษาและค่าเดินทางยังเป็นอุปสรรคสำคัญ จวบจนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพขึ้นในปี 45 กำหนดให้ สปสช. ทำหน้าที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ สธ.ทำหน้าที่ทั้งการจัดบริการและจัดการด้านการเงินการคลัง มาเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดย สธ.ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณสุข และ สปสช.ทำหน้าที่ด้านการเงินการคลัง เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตให้กับคนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถไปรับบริการรักษาพยาบาลได้ที่ รพ.ในเครือข่ายบัตรทอง ซึ่งได้แก่รพ.รัฐทั้งหมดและ รพ.เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ จากวันนั้นเป็นต้นมา ทำให้เกิดการปลดแอกครั้งใหญ่ในสังคมไทย ไม่เพียงแต่ประชาชนสามารถไปรับบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังถึงค่าใช้จ่าย ไม่ต้องไปขอรับการสงเคราะห์เยี่ยงผู้ป่วยอนาถา แต่ รพ.ยังได้รับเงินชดเชยค่าบริการจากรัฐบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพ

ปี 56 สปสช. เก็บเบี้ยประกันจากประชาชนคนละ 2,755 บาท เบี้ยประกันจำนวนนี้ได้ถูกนำไปตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้ความคุ้มครองบริการทางการแพทย์ทั้งส่งเสริม รักษาป้องกันและฟื้นฟูภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การให้วัคซีนจนถึงการเปลี่ยนอวัยวะ

ระบบสุขภาพเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้าย การทำงานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และการทำงานแบบหนุนเสริมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากองค์กร ส. หลักที่ทำหน้าที่ดูแลระบบสาธารณสุขโดยรวมในอดีต คือกระทรวงสาธารณสุข ได้แตกหน่อออกเป็นองค์กร ส. ใหม่ที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านได้แก่การค้นคว้าวิจัย การพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล การสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพการสร้างหลักประกันสุขภาพ การพัฒนานโยบายสาธารณสุข และการจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน

20 ปีของการกำเนิดองค์กร ส. ได้ทำงานแบบหนุนเสริมกันสร้างผลงานตามความเชี่ยวชาญและมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพของไทย จนองค์การอนามัยโลกยกย่องประเทศไทยให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพและสหประชาชาติกำลังจะประกาศให้เป็นวาระโลกในเรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นของเฉพาะตัว แต่ระบบสุขภาพเป็นของสาธารณะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่รวบอำนาจไว้ที่ใครหรือที่ไหนเพียงแห่งเดียวระบบสุขภาพเป็นของทุกคนครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 19 มีนาคม 2556