ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปก.-ภาคประชาชนโวยสภาเลื่อนถกแก้พ.ร.บ.ประกันสังคม เดินหน้าจัดเวทีคุยเอง 29 มี.ค.นี้

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า วาระการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ถูกบรรจุเข้าไปเป็นวาระการประชุมลำดับที่ 6 และ 7 ตั้งแต่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนเพื่อช่วยเหลือทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติและสร้างความมั่นคงทางสวัสดิการให้แก่แรงงานทุกกลุ่มก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ขณะนี้ผ่านการประชุมแล้ว 4 ครั้ง เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา

"การแก้กฎหมายประกันสังคมจะมีผลต่อแรงงานทุกกลุ่ม แต่ก็ยังถูกแทรกคิวอยู่เรื่อยๆครั้งที่ผ่านมาก็ถูกแทรกด้วยเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตออกนอกระบบ และทราบมาว่าในการประชุมครั้งหน้า 20 มี.ค. ก็จะเลื่อนประเด็นนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา ส่วนเรื่องแรงงานภาคประชาชนรอต่อไป" นางสุนี กล่าว

ปัจจุบันไทยมีแรงงานในระบบประมาณ 10 ล้านคน และแรงงานนอกระบบอีกราว 23 ล้านคน หากการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ประสบผลสำเร็จจะช่วยประชาชนได้จำนวนมาก และเมื่อรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอาจมีแรงงานข้ามชาติเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นการวางหลักกฎหมายประกันสังคมให้เข้มแข็ง จึงถือว่าช่วยเหลือแรงงานกลุ่มดังกล่าว

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)กังวลว่าประเด็นนี้อาจถูกเลื่อนไปเรื่อยๆจนปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 20 เม.ย.นี้และเลื่อนไปสู่สมัยประชุมหน้าในเดือนธ.ค. ทำให้พิจารณาได้ไม่ทันการณ์ ในวันที่29 มี.ค.นี้ คปก.จึงเตรียมจัดเวทีเสวนาเรื่องประกันสังคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเชิญผู้จัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมทั้ง 4 ฉบับ มาชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณะ พร้อมทั้งเชิญนักวิชาการมาร่วม

ทั้งนี้ การผลักดันเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมมีขึ้นมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 ปัจจุบันได้รับการบรรจุเป็นวาระของสภาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.... จากภาคประชาชน มีสาระสำคัญคือการให้ประกันสังคมครอบคลุมแรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งชาวไทยและข้ามชาติอย่างเท่าเทียม เพราะขณะนี้ยังมีแรงงานหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลูกจ้างที่ทำงานบ้าน กลุ่มลูกจ้างข้าราชการ ที่ไม่ได้รับสวัสดิการจากประกันสังคม

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคมให้กลายเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นองค์กรอิสระมากขึ้น โดยให้ตำแหน่งระดับผู้บริหารมาจากการสรรหาและเลือกตั้ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 มีนาคม 2556