ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการแพทย์ไทยภายหลังจาก ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าว "ก้าวแรกของความเป็นไปได้ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกให้หายขาด" ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ว่าศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยโครงการตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเฉียบพลัน ภายใต้ความร่วมมือเพื่อการวิจัยระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮาวาย (เซิร์ช) ในการตรวจเลือดวิธีใหม่เพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ในการประชุมนานาชาติ Conference on Retroviruses and Opportunistic Infec-tions ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (NAT) ซึ่งมีความไวและแม่นยำสูง สามารถใช้ตรวจหาการติดเชื้อที่เพิ่งรับมาประมาณ 5 วันขึ้นไปได้

"ผลการศึกษาพบว่า ถ้าตรวจพบตั้งแต่สัปดาห์แรกของการรับเชื้อแล้วรีบให้ยาต้านไวรัสทันที จะทำให้สามารถดักเชื้อไม่ให้ฝังตัวในเซลล์เพื่อขยายพันธุ์ในระยะยาวได้ และมีแนวโน้มที่จะรักษาได้หายขาดและหยุดยาต้านไวรัสได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า

หากรักษาได้เร็วก็อาจช่วยกู้ภูมิคุ้มกันคนไข้ให้กลับคืนมาได้ สอดคล้องกับกรณีที่พบว่า เด็กจากรัฐมิสซิสซิปปี สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่รับเชื้อใหม่ๆ จนเป็นข่าว โด่งดังไปทั่วโลก" ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์กล่าว

รศ.พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซิร์ช ร่วมแถลงว่า โครงการเซิร์ซ 010 หรือ อาร์วี 254 มีจุดประสงค์เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน หรือช่วง 4 สัปดาห์แรกของการ ติดเชื้อ

โดยจะให้การรักษาในช่วงที่มีการทำลายภูมิคุ้มกันอย่างรุนแรง และเพิ่มจำนวนของเชื้ออย่างรวดเร็วในเม็ดเลือดขาวและอวัยวะต่างๆ เพื่อลดเชื้อที่หลบซ่อนในร่างกายด้วยการให้ยาต้านไวรัส

จากนั้นในระยะ 2 จะเริ่มกำจัดเชื้อที่หลบซ่อนในร่างกายด้วยการให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ยากระตุ้นเชื้อที่หลบซ่อนแสดงตัว เพื่อให้ยาต้านไวรัสสามารถกำจัดเชื้อได้ และให้ยาลดอาการอักเสบ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว

ส่วนในระยะที่ 3 จะควบคุมเชื้อโดยไม่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส ด้วยการหยุดยา ซึ่งจะมีการวิจัยติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตั้งเป้าว่า ผู้ป่วยจะสามารถหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ติดเชื้อเอชไอวีได้

รศ.พญ.จินตนาถ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการเซิร์ชยังอยู่ในการศึกษาขั้นแรก คือ การลดเชื้อ ที่หลบซ่อนในร่างกาย ซึ่งขณะนี้มี ผู้ป่วยเอชไอวีเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 96 คน ตั้งเป้าให้มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 150 คน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมาจากผู้ที่มารับบริการการตรวจเชื้อเอชไอวีที่ 'คลินิกนิรนาม' ตั้งแต่ปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,000 คน โดยตรวจหาแอนติบอดีต่อเอชไอวีด้วยวิธีที่มีความไวสูง แล้วพบว่า มีผลตรวจเป็นบวกทั้งสิ้น 5,000 คน ส่วนกลุ่มที่ให้ผลเป็นลบได้นำไปตรวจด้วยวิธี NAT ปรากฏว่า พบการติดเชื้อระยะเฉียบพลันถึง 100 คน จึงได้ขอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

โดยในกลุ่มผู้ป่วย 75 คนแรกที่เข้าร่วมโครงการ พบว่ามีจำนวน 24 คนที่ติดเชื้อแบบเฉียบพลันไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งจากการวินิจฉัยพบว่าเชื้อยังไม่เข้าไปแทรกตัวในเม็ดเลือดขาวและลำไส้ใหญ่

เมื่อรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ในกลุ่มดังกล่าวยังคงไม่พบเชื้อเอชไอวีในเม็ดเลือดขาว และร้อยละ 75 ไม่พบเชื้อเอชไอวีในลำไส้ใหญ่ หลังรักษาต่อเนื่องนาน 6 เดือน ซึ่งพบว่ายิ่งได้รับการตรวจหาเร็วก็จะยิ่งมีโอกาสมากขึ้น

"การศึกษาดังกล่าวจึงเป็นความหวังว่าการเริ่มให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน สามารถลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายให้ต่ำมาก เป็นก้าวแรกที่อาจนำมาสู่การรักษาเอชไอวีให้หายได้ จึงขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ควรตรวจหาเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอชไอวีที่ติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งระยะแรกจะมีอาการ ไข้ ปวดหัว เพลีย แผลในปาก ผื่น เจ็บคอ และถ่ายเหลว แต่ส่วนมากมักเสียโอกาสเพราะไปตรวจที่สถานพยาบาลอื่น จึงไม่ได้รับคำแนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี" รศ.พญ.จินตนาถ กล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าขอชื่นชมความสำเร็จในการศึกษาวิจัยของโครงการดังกล่าว เพราะถือเป็นก้าวแรกของความหวังรักษาผู้ป่วยเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันยังคงมีปัญหาคือ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ยังคงทำงานเชิงรับ คือให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในหน่วยบริการเพียงอย่างเดียว ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีคนสมัครใจมารับบริการตรวจเอชไอวีเองเพียงประมาณแสนคน

แต่อีกประมาณ 4 แสนคนล้วนมาด้วยอาการที่สัมพันธ์กับ โรคเอดส์ ทำให้ไม่สามารถลดอัตราการตายได้ และสถิติการป่วยของประเทศได้ ทั้งที่ผ่านมาเรามีการเรียกร้องให้จ่ายยาไวขึ้น

"อยากให้รัฐใช้องค์ความรู้นี้ในการรณรงค์และพัฒนาระบบการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้รวดเร็วขึ้น เอื้ออำนวยความสะดวกคนที่มีความเสี่ยงและเดินเข้ามาตรวจได้ง่าย รวดเร็ว เป็นมิตร และปลอดภัย ถ้าทำให้ง่ายจะช่วยลดอัตราติดเชื้อและตายได้ ถ้ายังเปิดให้บริการแบบเดิมรอคนมาตรวจก็จะมีอัตราการตายเหมือนเดิม เป็นการสูญเสียโอกาสของคนที่ติดเชื้อ โดยอาจตั้งเป้าไว้เลยว่าจะตรวจเอชไอวีให้ได้ 20 ล้านคนใน 1 ปี เป็นต้น" นายนิมิตร์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 19 มีนาคม 2556