ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"พายุ" อีกลูกในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ จะต้องผ่านพ้นไปให้ได้ หลังจากเคลียร์ปัญหาเรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพต่างๆ เป็นข้าราชการกว่า 30,000 คน ไปแล้ว คือ "นโยบายปรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย" ของบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน

เพราะมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มแพทย์ที่ทำงานในชนบทจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดขู่ว่าจะหยุดงานประท้วงในช่วงสงกรานต์นี้

กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านมองว่า การปรับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 3,000 คน กระจายอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่งทั่วประเทศ นโยบายนี้อาจทำให้แพทย์กลุ่มนี้ขอย้ายไปอยู่ในตัวจังหวัดแทน หรือไม่ก็แห่กันลาออกไปอยู่ในภาคเอกชนแทน

ที่สำคัญไปกว่านั้น ชมรมแพทย์ชนบทยังวิเคราะห์ว่า นโยบายนี้ช่างสอดรับกับนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เพื่อดึงดูดลูกค้าจากต่างประเทศให้เข้ามารับการรักษากับแพทย์ชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย เพื่อการรักษาพยาบาลจาก 30 วัน เป็น 90 วัน ให้กับผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตามจำนวนไม่เกิน 4 คน และล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่าอาจให้สิทธิต่างชาติถือหุ้นในสถานพยาบาล สถานประกอบการ สปา ได้ถึงร้อยละ 70 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ย้ำว่า ให้จับตามองให้ดี เพราะเมื่อมีนโยบายปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แม้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. จะยืนยันเสียงแข็งว่าไม่มีการปรับลดเงิน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยยังคงได้เบี้ยเลี้ยงในอัตราเท่าเดิม แต่ความเป็นจริงมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งการคิดค่าพีฟอร์พี (Pay for Performance: P4P) ซึ่งยังไม่ทราบถึงรายละเอียดเกณฑ์การพิจารณา หรือการแยกพื้นที่ใหม่ว่ามีคำจำกัดความอย่างไร ซึ่งสุดท้ายเมื่อแพทย์ในชนบททยอยกันลาออก ประกอบกับนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหันมาเปิดสาขาตามภูมิภาคเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าต้องการรับแพทย์ในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนจะเป็นตัวเลือกที่ดี สุดท้ายโรงพยาบาลชุมชนจะขาดแคลนแพทย์อีกครั้ง และผู้ที่ได้รับผล กระทบคือ "ประชาชน" นั่นเอง

วันนี้...นพ.ประดิษฐจึงไม่ได้ถูกเพ่งเล็งเพียงประเด็นปรับเบี้ยเหมาจ่าย แต่ยังถูกเหมารวมว่ามีนโยบายที่เอื้อต่อภาคเอกชน หนำซ้ำยังถูกจับตามองถึงความไม่เหมาะสมที่ใกล้ชิดกับนักธุรกิจใหญ่ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพราะในเร็วๆ นี้มีกำหนดการร่วมสัมภาษณ์พิเศษกลุ่มย่อย กรณี เศรษฐาได้รับรางวัลระดับโลก "BasilHetzel Award" จากสภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (ICCIDD) แม้ล่าสุดเจ้าตัวจะปฏิเสธเข้าร่วมแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ นพ. ประดิษฐเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเรื่องนี้ภาคประชาชนมองว่าซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และมีแผนที่จะรวบอำนาจขององค์กรอิสระตระกูล ส. ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ฯลฯ

ไม่รู้ว่า...ข้อสังเกตเหล่านี้จะจริงหรือไม่ แต่อดห่วงไม่ได้ว่า "นพ. ประดิษฐ" จะฝ่าพายุลูกนี้อย่างไร

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มีนาคม 2556