ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บีซีเอช วาดแผนลงทุน 3 ปี ก่อนเปิดเออีซี รุกตลาดรักษาพยาบาลครบทุกเซ็กเมนต์  หลังครองผู้นำกลุ่มระดับกลาง เตรียมขยายโปรเจ็กต์จับตลาดบน "World medical center" แห่งที่ 2 ที่พัทยา พร้อมซุ่มสร้างแบรนด์โรงพยาบาลจับตลาดล่างและผู้ป่วยประกันสังคม ชูโมเดลธุรกิจ Sun and Satellite Model ขยายเครือข่ายโรงพยาบาล ปูทางสร้างรายได้หมื่นล้าน

น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)  หรือบีซีเอช ผู้บริหารเครือข่ายโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"  ถึงแผนการขยายธุรกิจและการเตรียมตัวรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ว่าเป้าหมายของกลุ่มบีซีเอชภายในระยะเวลา 3 ปี ให้ความสำคัญใน 3 เรื่องคือ 1. การขยายการรักษาให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งตลาดระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง

2. การขยายธุรกิจสินค้าที่เกี่ยว ข้องวงการแพทย์ หรือ Medical Device เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์  รวมถึงยาเข้ามาจากต่างประเทศ 100% ทั้งที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาและผลิตสินค้าในกลุ่มนี้สำหรับใช้ในประเทศและยังสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ด้วย และ 3. การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุทั้งในประเทศและต่างประเทศ

"กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์จะขยายตลาดการให้บริการกับลูกค้าครบทุกเซ็กเมนต์  จากเดิมที่จับเฉพาะตลาดในกลุ่มระดับกลางเป็นหลัก โรงพยาบาลในเซ็กเมนต์นี้  ได้แก่  โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ทั้ง 6 สาขา คือ สาขาบางแค, สุขาภิบาล 3, สระบุรี, รัตนาธิเบศร์, ประชาชื่น และศรีบุรินทร์ จ.เชียงราย"

ด้านแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทเตรียมงบประมาณ 3.1 พันล้านบาท เพิ่มจำนวนเตียงขึ้นอีก  600 เตียง จากปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 2 พันเตียง แบ่งเป็นการ World medical center แห่งที่ 2 จำนวนประมาณ 250 เตียง  บนเนื้อที่ 14 ไร่  ที่พัทยา จ.ชลบุรี ด้วยงบลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านบาท เริ่มก่อสร้างปลายปี 2557 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2559  เพื่อรองรับกับตลาดระดับบนหรือ กลุ่มเอ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้ลงทุน 2.2 พันล้านบาท ในโครงการ World medical center บนถนนแจ้งวัฒนะ  ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคมนี้ และล่าสุดได้มีการซื้อที่ดินบริเวณด้านข้างเพิ่มอีกมูลค่า 675 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายโครงการต่อเนื่องในอนาคตด้วย

ในขณะที่ตลาดระดับกลาง หรือ กลุ่มบี เตรียมขยายโรงพยาบาลเกษมราษฎร์  ศรีบุรินทร์  จ.เชียงรายเพิ่มเติมอีก 100 เตียง ด้วยงบลงทุน 600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2557 และจะแล้วเสร็จในปี 2558 นอกจากนี้ยังลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาล บนถนนราม คำแหงเพิ่มอีก 1 แห่ง จำนวน 250 เตียง ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2557 และจะแล้วเสร็จในปี 2558 ส่วนกลุ่มตลาดระดับล่าง หรือกลุ่มซี บริษัทมีแผนจะลงทุนขยายโรงพยาบาลเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยประกันสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการวาง แผนว่าจะใช้แบรนด์อะไรในการลงทุนก่อสร้าง

"การขยายธุรกิจของกลุ่มบีซีเอช ได้นำโมเดลที่เรียกว่า "Sun and Satellite Model" อย่างกรณีที่ขยายโรงพยาบาลเกษมราษฎร์  ศรีบุรินทร์ จ.เชียงราย ในขณะเดียวกันยังมีการตั้ง Poly Medicine ในอำเภอรอบๆ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อมีความต้องการเพิ่มก็จะขยายเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กต่อไป ไม่จำเป็นต้องขยายโรงพยาบาลจำนวนมาก  แต่โพลีเมดิซีนดังกล่าวจะมีหมอในสาขาหลักให้บริการในแต่ละสาขาครบ  ในลักษณะโรงพยาบาลขนาดเล็ก  ต่างจากโพลีคลินิกที่มีหมอคนเดียวรักษาทุกโรค โดยที่อำเภอแม่สายได้ใช้โมเดลดังกล่าวในการขยายธุรกิจแล้ว และในอนาคตจะขยายเพิ่มที่อำเภอฝาง เชียงแสน และเชียงของต่อไป" น.พ. เฉลิม กล่าวและว่า

แผนการดำเนินการและการขยายธุรกิจของกลุ่มบีซีเอชดังกล่าว คาดว่าภายในปี 2558 บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณของโรงพยาบาลในเครือเพิ่มมากขึ้น  อีกทั้งการขยายตลาดระดับบน จะผลักดันทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตเพิ่ม จากปัจจุบันโรงพยาบาลทั้ง 6 สาขาเดิมมีการเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 10%

ส่วนโรงพยาบาลใหม่ที่ช่วงแรกอาจจะเติบโตไม่สูง แต่ระยะหนึ่งจะโตแบบก้าวกระโดดได้เช่นกัน  ซึ่งเฉพาะปีนี้บริษัทคาดจะมีรายได้เติบโตในอัตรา 20-25% หรือมูลค่ารวมประมาณ  5 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้เติบโตเพียง 13%

"โรงพยาบาลทั้ง 6 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้โรงพยาบาลมีความทันสมัย ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในแต่ละปีเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ส่วนโครงการ World medical center จะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มบีซีเอชก็มีอัตรากำไรที่เติบโตด้วยดี โดยปี 2554 มีกำไร 672 ล้านบาท ปีที่ผ่านมามีกำไร 910 ล้านบาทซึ่งแนวคิดในการขยายธุรกิจโรงพยาบาลกลุ่มบีซีเอชจะพิจารณาจากกลุ่มตลาดที่เราต้องการจะเข้าไปทำ พิจารณาจากความต้องการของตลาด กำลังซื้อ และทำเลที่ตั้ง ต้องสะดวกต่อการเดินทาง พื้นที่ต้องติดถนน" น.พ.เฉลิม กล่าวและว่า

ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ทุกกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนต่างก็มุ่งการขยายตลาดเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายครบทุกเซ็กเมนต์ แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของการรักษาพยาบาล  เทคโนโลยีทางการแพทย์  และค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะแตกต่างกัน ซึ่งเชื่อว่าการแข่งขันยังคงรุนแรงต่อไป  แต่การรุกธุรกิจพยาบาลในลักษณะการซื้อกิจการ หรือการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มโรงพยาบาล  เชื่อว่านับจากนี้จะไม่เห็นในลักษณะการร่วมทุนใหญ่ๆ อย่างเช่นที่ผ่านมาแล้ว ต่อไปจะเป็นลักษณะการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่มีอยู่ในต่างจังหวัดเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโรงพยาบาลในเครือต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21 - 23 มี.ค. 2556