ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"คุณหมอขอบอก" ในสัปดาห์นี้ยังคงติดตามโครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) มูลค่า 1,411.70 ล้านบาท โดยสัมภาษณ์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะกำกับติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด

นพ.วิชัย บอกว่า ความล่าช้าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยผมแล้ว สาเหตุที่สำคัญ คือ ความไม่รู้ของทุกฝ่าย ตั้งแต่คนคุมงาน คือมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ถือว่าเก่งแล้วแต่ไม่มีความรู้พอ เนื่องจากโรงงานวัคซีนไม่เคยมีคนทำมาก่อน จึงขาดความรู้กันทั้งหมด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ อภ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นผู้อนุมัติแบบก็ไม่มีความรู้ที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้มีพิมพ์เขียวว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร อีกทั้งมาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลกมีการพัฒนาเป็นระยะ  และผู้เชี่ยวชาญที่เราปรึกษาหารือก็แล้วแต่ว่าผู้เชี่ยวชาญนั้นจะเก่งขนาดไหน  เขาก็มีการปรึกษาหารือมีการจ้างมาดูอะไรต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความเห็นก็แตกต่างกัน เช่น การสร้างต้องเป็นแบบนี้ เดินตามสายพานอย่างนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกฝ่ายบอกว่า อันนี้ไม่ได้ต้องอย่างนี้ สุดท้ายจะต้องสร้างเนื่องจากว่าเราอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เราก็ต้องยึดมาตรฐาน อย. แต่ อย.ไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปดูตรงนี้

เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นตอนที่ผมอยู่เชื่อมั่นว่าไม่มี เพราะผมดูแลอย่างเข้มงวด เข้าไปดูค่อนข้างใกล้ชิด แม้แต่การต่อรองราคากับบริษัท พอได้ราคาหนึ่งมาแล้ว พอมาถึงบอร์ด อภ. ได้มอบให้ผมกับ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ไปช่วยกันต่อรองและลดราคาลงได้หลายล้านบาท  บริษัทก็เกรงใจและเชื่อใจ ก่อนคุยกันผมจะบอกว่าผมไม่รู้จะอยู่กี่ปี ให้ไปสืบประวัติผมจะได้ไม่ต้องกันเงินไว้ให้กับพวกผมแม้แต่สตางค์แดงเดียว และบอกเลยว่าถ้ามีคนไปแอบอ้างเอาเงินไปให้ผมหรือเอาไปให้ใครมาบอกผมเลย

สมัยผมเป็นประธานบอร์ด อภ.  กล้าพูดได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของ อภ. เพราะยอดขายจาก 5,000 กว่าล้านบาท เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ไม่เคยมีบริษัทยาสามารถเพิ่มยอดขายได้ขนาดนี้ บริษัทยาข้ามชาติทึ่งมาก นอกจากนี้ยังลดราคายาให้ถูกลง และหัวใจสำคัญที่ทำให้ อภ.รุ่งเรืองได้ เพราะการเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ มาสั่งนั่นสั่งนี่ไม่ได้ผมไม่ยอม

งานนี้เป็นงานที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศหากมีการระบาดใหญ่ ปกติงานก่อสร้างเป็นปัญหาได้เสมอ อีกทั้งมีเรื่องน้ำท่วม บริษัทก่อสร้างมีปัญหา บริษัทคุมงานมีปัญหา โดยการก่อสร้างเราแยกสัญญาตามผู้เชี่ยวชาญแนะนำมา และให้เขาว่ากันไป เสร็จแล้วพวกเราทุกคนไม่มีใครมีความรู้เรื่องก่อสร้าง จึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาคุมงานก่อสร้าง ดังนั้นถ้ามีปัญหาทางเทคนิค ต้องไปไล่บี้เอากับส่วนนั้น

ทราบมาว่าบริษัทมีปัญหาภายใน และเรื่องสภาพคล่อง บริษัทนี้มีบริษัทร่วมทุนในต่างประเทศ ถ้าหากว่าบริษัททิ้งงานบริษัทร่วมทุนก็กระทบด้วย ครั้งหนึ่งเราเชิญบริษัทมาชี้แจงทางบริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศขอเข้ามาฟังด้วย ปรากฏว่าเขาหนักใจมาก ในที่สุดเขาก็ไปหาทางเพิ่มทุนเพื่อให้ทำงานนี้ไปได้ นี่ก็เป็นปัญหาทำให้ล่าช้า คือมันหลายเรื่อง

ถาม : เครื่องจักรที่ซื้อมาแล้วแต่โรงงานยังสร้างไม่เสร็จคิดว่ายังใช้ได้หรือไม่?

นพ.วิชัย : ตรงนี้แยกสัญญาคนละส่วน  เพราะเครื่องจักรบางอันยังสร้างไม่เสร็จต้องติดตั้งก่อน มันไม่เหมือนสร้างบ้าน มันยากมาก มีระบบที่จะต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพีองค์การอนามัยโลก คนคุมงานคือมหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงไปทำคอนซอร์เตียมกับเกาหลี แต่ตอนหลังเกาหลีถอนตัว ซึ่งผมไม่ได้ตามรายละเอียดเพราะพ้นมาปีกว่าแล้วตั้งแต่ 2 ก.พ. 2555 พอพ้นแล้วไม่ได้เข้าไปยุ่งแล้ว เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ลำบากใจ เห็นแต่ข่าว ไม่รู้เกิดอะไรอย่างไร

ถาม : มองอย่างไรที่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจเรื่องนี้?

นพ.วิชัย :  ไม่ได้ตาม ทราบข่าวเช่นกันว่ากรรมาธิการไล่บี้ แต่ไม่สนใจ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ลูกแกะอยู่ปลายน้ำยังบอกว่าทำให้ต้นน้ำขุ่นได้ คือมันอยู่ที่ว่าเราปกครองแบบธรรมาภิบาลหรือหมาป่าปกครองลูกแกะ  เรารับผิดชอบในส่วนของเราจบ ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่คนอื่น  ในบอร์ด อภ.ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้ามารายงานทุกเดือน และไล่บี้ว่าล่าช้ากี่วัน ให้ทำแผนอะไร เร่งรัดทุกเดือน และมอบให้มีเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามในพื้นที่ ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และจะแก้ไขอะไร อย่างไร

ถาม : คิดว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่?

นพ.วิชัย : มันตรงไปตรงมาอยู่แล้ว  (หัวเราะ) ที่บอกว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่มีการล้วงลูก

ถาม : แสดงว่าตอนนี้มีความพยายามจะล้วงลูกใช่หรือไม่?

นพ.วิชัย : ไม่ทราบ คือ มันตรงไปตรงมา (หัวเราะ)

ถาม : กรณีโรงงานยาต้านไวรัสเอชไอวีที่คลองสิบ จ.ปทุมธานีล่าช้ามีปัญหาอย่างไร?

นพ.วิชัย : ปัญหาคล้ายคลึงกัน เพราะโรงงานนี้เป็นโรงงานที่ต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก และประเทศไทยไม่มีใครรู้ดี น้ำท่วมก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมได้เชิญมหาวิทยาลัยที่คุมงานมาให้ข้อมูลทุกเดือน ที่ล่าช้าปัญหาเยอะ ต้องเสียเวลากับการฟังรายงานไป 1 ชั่วโมงทุกครั้งที่ประชุมบอร์ด อภ. แต่ละการก่อสร้างมีรายละเอียดเยอะมาก แต่ตอนนี้โรงงานยาต้านไวรัสเอชเอวีใกล้เรียบร้อยแล้ว

ถาม : คิดว่ากรณีโรงงานวัคซีนต้องมีคนรับผิดชอบหรือไม่?

นพ.วิชัย : ปัญหาจากความไม่รู้ก็ต้องแก้ไขและเรียนรู้  ถ้าเราดูผู้บริหารเขาไม่ได้ดูกันที่งานชิ้นเดียว สมมุติจะประเมิน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล  ผอ.อภ.คะแนนตรงนี้ตก คะแนนอื่นอาจดี  ยกตัวอย่าง รพ.สั่งยาเข้ามา ปรากฏว่า อภ.ผลิตให้ไม่ทันก็ต้องตัดจ่าย ปีหนึ่งหลายสิบล้านบาทอาจถึงร้อยล้านบาท เพราะ อภ.ผลิตให้ไม่ทัน เราตั้งเคพีไอว่าถ้าตัดจ่ายเท่าไหร่คะแนนจะเหลือเท่าไหร่  ผมนับถือน้ำใจ นพ.วิทิต แกเสนอให้ตัดจ่ายเป็นศูนย์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะแกจะได้คะแนนไม่ดีตรงนี้ แต่มันทำให้มีการพัฒนา ทำให้ทุกองคาพยพทำให้การตัดจ่ายเหลือน้อยที่สุด ทั้งที่ไม่มีทางทำให้ตัดจ่ายเป็นศูนย์เพราะผลิตยานับ 100 รายการ คือ นพ.วิทิตตั้งอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ยอมให้คะแนนต่ำเพื่อประสิทธิภาพขององค์กร คนอย่างนี้ผมนับถือน้ำใจ ดังนั้นถ้าจะประเมินคนต้องดูรวม ๆ อย่าเอาเฉพาะเรื่องนี้ขึ้นมา อะไรที่เป็นปัญหาแล้วไปไล่บี้กลายเป็นชั่วไปหมด มันไม่เป็นธรรม.

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--