ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

องค์กรต่างๆ ทั่วโลกหนุนกระทรวงสาธารณสุขไทยให้เดินหน้าเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ เป็น 85%   เพื่อลดความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ หมอประกิตชี้ไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้าตามที่เครือข่ายของบริษัทบุหรี่อ้าง

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า องค์กรชั้นนำด้านสาธารณสุขจาก 10 ประเทศ ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมที่ไทยเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนพิษภัยของการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเพื่อลดความดึงดูดของซองบุหรี่ต่อวัยรุ่นที่จะเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ เนื่องจากบุหรี่ไม่ใช่สินค้าธรรมดา แต่เป็นสินค้าเสพติด ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้ใกล้ชิด  โดยทำให้คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละกว่าห้าหมื่นคน

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นี้ กำหนดภาพคำเตือน 85% โดยยังมีพื้นที่บนซองถึง 15% ให้ผู้ผลิตบุหรี่ได้แสดงตราสินค้า ต่างจากมาตรการที่ประเทศออสเตรเลียได้ประกาศใช้ ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือ ไม่อนุญาตให้มีการแสดงตราสินค้าบนซองบุหรี่ ให้มีได้เฉพาะชื่อยี่ห้อของบุหรี่ และต้องใช้สีและขนาดตัวอักษรตามที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น

ขณะนี้มีหลายองค์กร ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ และส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า คำเตือน 85% นี้ เป็นการล่วงละเมิดเครื่องหมายการค้าและเป็นผลเสียต่อชาวไร่ยาสูบ   ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า นับเป็นความเข้าใจผิดและข้อมูลหลายอย่างถูกบิดเบือน เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคัดค้านนี้คือบริษัทบุหรี่ ซึ่งได้จัดตั้งสมาคมผู้ค้ายาสูบไทยขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และว่าจ้างบริษัทด้านกฎหมายมาเป็นกระบอกเสียงให้ เพราะบริษัทบุหรี่ไม่กล้าออกหน้า

ประเทศอุรุกวัยใช้กฎหมายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาด 80%  มาตั้งแต่ พ.ศ.2552  แต่ยังไม่มีประเทศใดฟ้องร้องไปที่ WTO ว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทบุหรี่หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างไร  การที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นลูกมือให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ออกมาขู่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทยในเรื่องนี้  จึงไม่ต้องกลัวแต่ประการใด เพราะมาตรการนี้มิได้ละเมิดเครื่องหมายการค้าใด ๆรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่  8 มีนาคมที่ผ่านมา

“ผมจึงขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุนรัฐมนตรีสาธารณสุขในการไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน หากจะมีการยกเลิกประกาศจากการถูกคัดค้านขององค์กรแนวร่วมบริษัทบุหรี่ รัฐบาลไทยก็จะถูกมองว่ากลัวบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ มากกว่าที่จะยืนหยัดปกป้องสุขภาพของประชาชนไทย” ศ.นพ.ประกิตกล่าว