ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลหยุดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ ปลดหมอประดิษฐ พ้นรมว.สธ. ทบทวนนโยบายเมดิคัลฮับ

แถลงการณ์เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ (ฉบับที่ 2)

จับตาแฉรัฐฮุบอำนาจกินรวบงบเจ็บป่วยล้มระบบหลักประกันสุขภาพเอื้อธุรกิจเอกชน 

ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ นับตั้งแต่เริ่มมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ได้สร้างระบบที่ดูแลครอบคลุมประชาชนชาวไทยกว่า 48 ล้านคนบนหลักการ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทำให้ ประชาชนกว่า 80,000 ครัวเรือน ไม่ต้องเผชิญกับภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาอีกต่อไป ช่วยลดความยากจนจากการต้องเป็นหนี้สินจากการรักษาพยาบาล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คนรวย เนื่องเพราะทุกคนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ มาตรฐานเดียวกัน สามารถให้การรักษาได้ครอบคลุมโรค ทั้งไตวายเรื้อรัง เอดส์ มะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เกิดความล้มละลายของประชาชน การสร้างมาตรฐานการรักษาโดยการใช้ระบบบัญชียาอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการเพื่อให้ได้ยาราคาที่เหมาะสม แม้ยาบางชนิดจะติดสิทธิบัตรที่ทำให้ราคายาสูงมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็กล้าที่จะใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ทำให้ไทยมียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาโรคหัวใจ และยารักษามะเร็ง ในราคาที่เหมาะสมไม่ค้ากำไรเกินควร เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น

ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ถูกการเมืองยึดแบบเบ็ดเสร็จ เป็นไปตามที่เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ ได้จับตามาตลอดระยะเวลาเกือ2 ปีโดยรัฐบาลชุดนี้ได้พยายามสร้างเงื่อนไข เพื่อเข้ายึดครอง สปสช. และการบริหารกองทุนแสนสี่หมื่นล้านบาท จะทำให้ระบบสาธารณสุขล้าหลังไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่หลายๆประเทศกำลังจะพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีหลักประกันเหมือนประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ตลอด ดังต่อไปนี้

1. การยุบหน่วยงาน และแทรกแซงหน่วยงานตระกูล ส.ได้แก่ สพฉ.(1669) สช. สสส.สวปก ฯลฯ
2. ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศจะกอบกู้กระทรวงสาธารณสุขกลับมา(ขาดกลไกตรวจสอบธรรมาภิบาล)
3. การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังที่มาจากคนของรัฐบาลและมีความเห็นคัดค้าน พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
4. การเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. 2 คน ที่มาจากคนของรัฐบาล
5. การลดเบี้ยกันดารของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ขาดแรงจูงใจบุคคลากรไหลไปเอกชน
6. การสนับสนุนนโยบายเมดิคอลฮับ เอื้อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของสังคม เครือข่ายคนรักหลักประกันภาคใต้ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1. ให้รัฐบาลหยุดดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ
2. ปลดรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุ
3. ทบทวนนโยบายเมดิคัลฮับ

โดยเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ จะมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์และดำเนินการเพื่อพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพดังนี้

1. ร่วมเข้าชื่อถอดถอนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
2. ยื่นจดหมายกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขมีอิสระจากการเมืองและทบทวนหยุดการดำเนินการทำลายล้างระบบหลักประกัน
3. ขึ้นป้ายเรียกร้องเพื่อพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของทั่วประเทศ

เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้
เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ 
เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้สูงอายุ 
เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเด็กเยาวชน 
เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายองค์กรชุมชน 
เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน 

หมายเหตุ .....แผน 4 ขั้นตอน ในการล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้ 

ขั้นตอนที่หนึ่ง
ฝ่ายการเมืองเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบหลักประกันสุขภาพรวมทั้งนายทุนพรรคเพื่อไทยเข้ายึดครองบอร์ด สปสช. เพื่อจัดคนของตัวเองเข้าสู่อนุกรรมการการเงินการคลังและอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งปรับนโยบายหลักประกันสุขภาพที่เดิมยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเปลี่ยนเป็นยึดหน่วยบริการเป็นหลัก

ขั้นตอนที่สอง 
เปลี่ยนเลขาธิการ สปสช.เอาตัวแทนของฝ่ายการเมืองเป็นแทน เพื่อยึดครองสปสช.และลดบทบาทการปฏิรูปและตรวจสอบระบบบริการ(หมายเหตุเพิ่มรองเลขาฯจาการเมือง 2 ตำแหน่ง)

ขั้นตอนที่สาม
ของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับที่ประกันสังคมเพิ่มครั้งใหญ่และที่สวัสดิการข้าราชการได้รับเพื่อสร้างเงื่อนไขภาระงบประมาณให้รัฐบาล(กำลังพยายามโยกงบเงินเดือนบุคคลากรเข้ากองทุนในการประชุมกรรมการบริหารฯเดือนมีนาคมนี้) 

ขั้นตอนที่สี่
สร้างกระแสสังคมให้ยุบเลิกหรือแก้ไขสาระสำคัญของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ. 2545 เป็นการสิ้นสุดยุคปฏิรูประบบสุขภาพที่ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ และนายกทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับภาคประชาชน เริ่มต้นไว้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา
แผนทั้งสี่ขั้นตอนนี้ได้เริ่มกันมาประมาณสามปีโดยมีกลุ่มแพทย์ที่ไม่ชอบบทบาทการตรวจสอบของภาคประชาชนเป็นหัวหอกเพราะระบบและพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นอุปสรรคกับการขายยาราคาแพงของบริษัทยาข้ามชาติ กระทบต่อธุรกิจของ รพ.เอกชน ลดบทบาทอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าล้วงลูกหาผลประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ยาก จึงต้องยกเลิกหรือแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมาย... 

ถือเป็นการทำลายระบบหลักประกันอย่างสมบูรณ์และครอบงำด้วยธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2556

ที่มา : facebook เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง