ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรณี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศว่าจะปฏิรูประบบการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศ ด้วยการจัดตั้ง "คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ" (National Health Authority) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ คล้ายกับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมีความพยายามจะยึดองค์กรตระกูล ส. ทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาดูแลเอง

คำถามคือ คณะกรรมการชุดนี้จะซ้ำซ้อนกับ "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)" ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานหรือไม่ เพราะ คสช.ก็ทำหน้าที่รวบรวมประเด็นสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้อสรุปของ "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ที่จัดเวทีขึ้นทุกปี และเสนอต่อนายกฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบให้รองนายกฯ เป็นประธาน

บางฝ่ายมองว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อน เพราะองค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะตระกูล ส. ก็ล้วนมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นของตนเอง จึงมีคำถามต่อว่า คณะกรรมการชุดใหม่ จะใช้อำนาจใดในการดูแลหน่วยงานเหล่านี้ หรือต้องแก้กฎหมาย

ช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือน นพ.ประดิษฐจะถูกโจมตีเกือบทุกนโยบายที่นำเสนอ โดยเฉพาะกับข้อกล่าวหาที่ว่า ต้องการ "รวบอำนาจ" แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า แนวคิดในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ที่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เคยเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเดิมตั้งชื่อว่า "คณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ" แต่ชื่อนี้ไปซ้ำกับ "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" จึงจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่

โดยโครงสร้างจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เดิมทีให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ แต่ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการแทน โดยมีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การสาธารณสุข และการพัฒนาสุขภาพของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล กำหนดแนวทางการบูรณาการทำงานของส่วนราชการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติระดับชาติ รวมทั้งทำหน้าที่กลั่นกรองงานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ด้วย

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวอีกว่า กรณีองค์กรอิสระต่างๆ ที่มี พ.ร.บ.เป็นของตนเองนั้น หากมีคณะกรรมการชุดนี้ แทบไม่มีผล เพราะคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่เหมือนเลขานุการคณะรัฐมนตรี ในการ กลั่นกรองเรื่องต่างๆ ก่อนเสนอจริง ซึ่งถือเป็นกลไกการทำงานของคณะรัฐมนตรี ที่องค์กรอิสระ หน่วยงานรัฐย่อมต้องปฏิบัติ

"หากพูดถึงข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ มีทั้งสองทาง โดยข้อดีจะลดความยุ่งยากของขั้นตอนการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเดิมทีกว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแต่ละเรื่องค่อนข้างใช้เวลา แต่คณะกรรมการชุดนี้จะกลั่นกรองเรื่อง และหากมีข้อบกพร่องใดก็จะให้ปรับปรุงจนแล้วเสร็จก่อนเสนอจริง ซึ่งจะทำให้รวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็อดห่วงไม่ได้ว่า จะเกิดการรวบอำนาจ หรือไม่ นั่นเพราะโครงสร้างของคณะกรรมการไม่ชัดเจน ผลการศึกษาต่างๆ ถึงข้อดีข้อเสียของสถาบันวิจัยที่ได้รับการยอมรับก็ไม่เคยปรากฏ หนำซ้ำกลับมีกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนอีก โดยเฉพาะข้อกังวลการควบคุมองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ตระกูล ส. ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเสริมการทำงานให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมา การทำงานขององค์กรเหล่านี้อาจมีอิสระมากเกินไป จนรัฐบาลยากจะควบคุม ประกอบกับงบประมาณที่ได้รับมีจำนวนมหาศาล จึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ แต่ละปี สปสช.ได้รับงบปีละกว่าแสนล้านบาท ดูแลงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกว่า 48 ล้านคน ส่วน สสส. ได้รับงบจากภาษีเหล้าบุหรี่กว่า 3,000 ล้านบาท จัดสรรงบให้โครงการของบรรดาเอ็นจีโอ ภาคประชาชน ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมทั้งโครงการศึกษาผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ เป็นต้น จึงอดกังวลไม่ได้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานหรือไม่" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว แต่ข้อกังวลนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่อยู่ในยุทธศาสตร์การวิจัยระบบสุขภาพระหว่างปี 2554-2558 ที่ สธ.ได้ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน โดย สวรส.ได้สรุปเป็นบทสังเคราะห์ข้อเสนอ "บทบาทกระทรวงสาธารณสุข" ในศตวรรษที่ 21 จากงานสัมมนาเมื่อช่วงมิถุนายน 2554 ที่โรงแรมเดอะรอยัลเจมส์ กอล์ฟ รีสอร์ท จ.นครปฐม ซึ่งในยุทธศาสตร์ไม่เคยพูดว่าจะไปก้าวก่ายการทำงานหรือรวบอำนาจของหน่วยงานใด

ดังนั้น...การจะมีคณะกรรมการดูแลนโยบายระดับชาติ หากต้องทำหน้าที่กลั่นกรองทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เมื่อมีกระแสความเป็นห่วงถึงความชอบธรรม ทางที่ดีที่สุดควรมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมช่วยกันคิดอ่าน

หากประเด็นเหล่านี้มีความชัดเจน เชื่อว่าการทำงานจะดูสวยหรูขึ้นเป็นกอง!

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์  email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 มีนาคม 2556