ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประดิษฐ" รับไม่สบายใจ แพทย์ชนบทขึ้นป้ายขับไล่ไปสู่สุคติ ยันจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่เห็นด้วย ส่วนการชุมนุมหน้าทำเนียบหากทำเกินกว่าระเบียบราชการถูกสอบสวนแน่ ด้าน "หมอชลน่าน" ป้อง รมว.สธ.ไม่ได้เดินหน้านโยบายคนเดียว แต่มีคณะกรรมการระดับชาติร่วมสังฆกรรมด้วย

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่คัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) แต่งกายด้วยชุดสีดำ และได้มีการขึ้นป้ายข้อความขับไล่ "ขอไว้อาลัย ประดิษฐ ณรงค์ จงไปสู่สุคติ" พร้อมกันหลายแห่ง ว่า รู้สึกไม่สบายใจกับการกระทำรุนแรงอย่างนี้ แต่ไม่ได้กังวล ซึ่งที่จริงแล้วไม่อยากใช้คำว่าไม่กังวล เพราะเดี๋ยวจะคิดว่าไม่กลัวและกลายเป็นการท้าทาย แต่รู้สึกไม่สบายใจมากกว่าว่าทำไมถึงตัดสินใจทำกันแบบนี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสมควร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนนั้นบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ส่วนการจะมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลทุกวันอังคาร เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป ของกลุ่มแพทย์ชนบทนั้น เพื่อกดดันนายกฯ ให้ถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง ถ้ามาชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และตามระเบียบราชการก็มีสิทธิทำได้ ซึ่งรัฐบาลต้องยอมรับการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แต่หากมีการทำที่เกินกว่าระเบียบราชการก็ต้องมีการสอบสวน หรือดูสาเหตุต่อไปเพื่อหาผู้รับผิดชอบ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ร่างการทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น มีความใกล้เคียงกับข้อเสนอที่กลุ่มแพทย์ชนบทเคยยื่นปลัด สธ. ขอยืนยันว่าการปรับพื้นที่ใหม่ และการทำ P4P สธ.ได้มีการดำเนินการเองมาหลายปีแล้วตั้งแต่ปี 2554 ไม่ใช่ นพ.ประดิษฐ เป็นผู้ทำคนเดียว แต่มีคณะกรรมการในระดับประเทศเป็นผู้ร่วมดำเนินการด้วย ทั้ง สธ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ รวมไปถึงโรงพยาบาลพาน ที่ดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานมาประมาณ 10 ปี และประสบความสำเร็จ ก็มีการนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นต้นแบบ

ที่มา : www.manager.co.th