ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เผย 7 เดือนเห็นโฉมใหม่ ยันไม่รวบอำนาจหน่วยงานตระกูล ส.กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าปรับโครงสร้างใหม่แบ่ง 3 กลุ่มผู้ให้และผู้ซื้อ ลั่นอีก 7 เดือนเห็นโฉมหน้าระบบสุขภาพไทยขณะที่หมอประดิษฐ์ยืนยันแค่ปรับนโยบายสุขภาพให้ไปทิศทางเดียวกัน

หลัง นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและพิจารณานโยบายการดำเนินงานของกระทรวงฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหม่ของกระทรวง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าบทบาทอาจไปซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการตระกูล ส. ที่ประกอบไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

ประเด็นดังกล่าวนายแพทย์ประดิษฐ์ บอกว่า การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมานั้น ไม่ได้เป็นการตั้งขึ้นเพื่อให้ไปทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการชุดอื่น หรือจะมีการไปยุบคณะกรรมการชุดอื่นๆ ลง เพราะการตั้งคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติขึ้นมานั้น เป็นการแก้ปัญหาการปฏิบัติงานที่เป็นไปคนละทิศทาง ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราเห็นว่าปัญหาของระบบบริการสุขภาพประชาชน ยังขาดผู้ที่มากำหนดนโยบายอย่างชัดเจน ทำให้แต่ละหน่วยงานของ สธ. ทำงานกันไปคนละทิศละทาง

ตั้งคณะรัฐมนตรีด้านสุขภาพ

ทาง สธ. จึงเกิดแนวคิดว่าควรจะมีการตั้ง คณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าคณะรัฐมนตรีด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกันทำงานกำหนดแนวทางพัฒนานโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็จะดึงเอา คณะกรรมการตระกูล ส ต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการย่อย ช่วยกันทำงาน ไม่ได้มีการยุบรวมหรือควบรวมอำนาจตามได้เป็นข่าวแต่อย่างใด

"พวกตระกูล ส ต่างๆ นั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบแน่นอน เพราะแต่ละหน่วยงานเกิดขึ้นมาจากตัวกฎหมาย อย่างเช่น สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ก็ต้องมีการดำเนินงานต่อไป เพียงแต่ว่าทิศทางการปฏิบัติงานนั้น อยากให้มีการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น เพราะหากยังต่างคนต่างทำงานไปคนละทิศละทางมันก็ไม่สามารถ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้"

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ที่เดิมเป้าหมายในการจัดตั้งเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณสุขนายแพทย์ประดิษฐ์ บอกว่าสช.ยังคงทำหน้าที่อยู่เช่นเดิม โดยคอยทำหน้าที่ส่งผ่านคำแนะนำของภาคประชาชน เพื่อส่งต่อมายังคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ นำมาคัดกรองรายละเอียดและหัวข้อนำเสนอ ก่อนที่จะมีการพิจารณาเป็นนโยบายภาคปฏิบัติอย่างไร ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อสรุปเป็นทิศทางการดำเนินงานต่อไป ซึ่งนี้คือทิศทางการดำเนินงานในอนาคต

"ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า แนวความคิดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ เป็นการดึงเอาคณะกรรมการชุดต่างๆ นั้น มาอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดใหญ่ เช่น สช.มีนโยบายอย่างไร มีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างไร ก็เข้ามาพิจารณากัน เพื่อดันเข้า ครม.ใหญ่พิจารณาได้ทันที ดีกว่านำเสนอขึ้นมาแล้วไม่ได้รับการตอบรับ "

โครงสร้างสธ.ใหม่แบ่ง3กลุ่ม

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงถึงแนวคิดการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้อยากให้มองว่า เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มากกว่าประเด็นการควบรวมอำนาจ เนื่องจากการปรับโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานราชการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใน 3 เรื่อง คือ 1.การเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวของประเทศ โดยมีกรมวิชาการต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ 2.การเป็นผู้จัดบริการประชาชน ภายใต้กองทุนสุขภาพต่างๆ ให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ใกล้บ้าน ภายใต้มาตรฐานเดียวกันและมีคณะกรรมการบริการเขตสุขภาพ

และ 3.บทบาทผู้ซื้อบริการ ได้แก่กองทุนสุขภาพทั้ง 3 คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม จะต้องมีระบบการประเมินตามตัวชี้วัดที่ชัดเจนร่วมกันกับผู้ซื้อบริการ เพื่อลดการซื้อในลักษณะกองทุนย่อย โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศครอบคลุมบริการหลัก 4 ด้าน ระบบบริการทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ "หลังจากนี้ไปทางสำนักปลัดได้ตั้งเป้าระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นภายในระยะเวลา 7 เดือน ซึ่งในระยะ 3 เดือนแรก จะเน้นการประชุมวางแผนให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน"

สปสช.เชื่อไม่กระทบการทำงาน

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขึ้นมานั้น คิดน่าจะคล้ายกับการเป็นตั้งคณะรัฐมนตรีย่อยด้านสุขภาพขึ้นมา เพื่อช่วยพิจารณาวาระต่างๆ ที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งในส่วนของ สปสช. เรื่องที่จะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีก็จะมีเพียงเรื่องงบประมาณเหมาจ่ายในแต่ละปีเพียงเท่านั้น

หากมีการตั้งคณะกรรมสุขภาพขึ้นมาจริงๆ ในส่วนของ สปสช. ก็คิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบในเรื่องของการบริหารงาน เนื่องจากตามตัวกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน เกี่ยวกับการเสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปี ซึ่งตามปกติ สปสช.จะต้องเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ส่งต่อไปยังเลขาคณะรัฐมนตรีทำการพิจารณาอยู่แล้ว

สพฉ. ชี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงาน

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า ตามแผนการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการระบบทำงานของหน่วยงานต่างๆ นั้น เห็นว่าน่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากระบบการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฉ. ก็ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดยกลไกและระบบการดำเนินงาน ก็ต้องยื่นเรื่องผ่านเข้าไปทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นบอร์ดใหญ่ ก่อนที่จะนำเสนอวาระต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ดังนั้นการดึง สพฉ.เข้าไปอยู่ใต้คณะกรรมการชุดใหญ่ น่าจะเป็นการช่วยทำให้การเสนอวาระต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณประจำปีน่าจะง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานของ สพฉ.มากขึ้น

จี้สธ.ชัดเจนปรับโครงสร้างใหม่

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิโรคเอดส์ กล่าวว่า แม้การปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข เมื่อดูในหลักการแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับรายละเอียดของการปรับโครงสร้างนั้น คิดว่าก่อนที่จะทำการปรับเปลี่ยนกลไกใดๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องมีจุดยืนและอธิบายโครงสร้างอำนาจให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งภายในหน่วยงาน และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บรรลุตามเป้าหมายที่ วางไว้

"ส่วนตัวคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่ควรทำการรวบอำนาจทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงาน ตระกูล ส. แต่อยากให้เป็นไปในลักษณะของการร่วมมือกันทำงานมากกว่า โดยแบ่งหน้าที่และบทบาทให้ชัดเจน เพราะหากต่างคนต่างทำ จะส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพไทยได้" นายนิมิตร์ กล่าวหวั่น

ซ้อนทับบทบาทเดิมของสช.

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า แนวคิดการปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข คล้ายกับเป็นการยกระดับการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่าการตั้งคณะกรรมดังกล่าวขึ้นมาอีกชุดหนึ่งนั้น จะไปซ้อนทับกับบทบาทของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงานได้

นอกจากนี้ยังเป็นการใช้อำนาจตั้งกลไกใหม่ขึ้นมา เพื่อรวมศูนย์อำนาจหน่วยงานสุขภาพ ที่เคยเป็นอิสระในการบริหารงาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการคานอำนาจกระทรวงสาธารณสุข โดย เฉพาะหน่วยงานตระกูล ส. ทั้งหลาย ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจการบริหารงานทั้งหมด จะตกไปอยู่ทางฝั่งกระทรวงทั้งหมด ในระยะยาวโครงสร้างในลักษณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศไทยได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 มีนาคม 2556