ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส. เปิดเผยว่า ช่วงปี 2555 มีผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีบำบัดทดแทนไตทั้งหมด 980,523 คน โดยใช้วงเงินในการรักษากรณีบำบัดทดแทนไตทั้งหมด 1,622,717,425 บาท แยกเป็นปลูกถ่ายไต 5,309 คน เป็นเงิน 167,535,577 บาท รับยา Erythropoietin 834,056 คน เป็นเงิน 300,757,472 บาท ฟอกเลือดกรณีไตวายเรื้อรัง 92,057 คน เป็นเงิน 1,123,034,376 บาท และล้างช่องท้องกรณีไตวายเรื้อรัง 49,101 คน เป็นเงิน 31,390,000 บาท

ล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ได้มีมติปรับอัตราค่าฟอกเลือดสำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก่อนการเป็นผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิเพิ่มจากอัตราเดิมที่กำหนดคนละ 1,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกินคนละ 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ปรับเพิ่มเป็นคนละ 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกินคนละ 4,500 บาทต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังได้สนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพ โดยให้มีการบูรณาการสิทธิประโยชน์โรคไตภายใต้การดำเนินงานของ 3 กองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมซึ่งในส่วนของผู้ประกันตนที่เคยใช้สิทธิบำบัดทดแทนไตกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกับหลักประกันสุขาภาพถ้วนหน้า (สปสช.) หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาก่อนที่จะเข้าระยยประกันสังคมจะได้รับสิทธิพิจารณาต่อเนื่องโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาต่อเนื่องโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติใหม่

"สปส.ยังได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีอนุมัติให้แก่ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องฟอกเลือดรายใหม่ให้ได้รับสิทธิรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการกระจายอำนาจการพิจารณาอนุมัติสิทธิให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม/จังหวัด/พื้นที่ สามารถอนุมัติสิทธิให้แก่ผู้ประกันตนได้ โดยไม่ต้องส่งเรื่องหารือต่อคณะอนุกรรมการการแพทย์ของ สปส.หากมีข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์ ทำให้ผู้ประกันตนมีสิทธิบำบัดทดแทนไตรวดเร็วขึ้นและผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ซึ่งคระนี้คณะกรรมการแพทย์ของ สปส.กำลังเร่งจัดทำร่างประกาศเพื่อให้ประธานกรรมการการแพทย์ของ สปส.ลงนามประกาศใช้คาดว่าจะประกาศใช้ได้ประมาณเดือนเมษายนนี้" นายอารักษ์ กล่าว

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 26 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--