ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รมว.สาธารณสุขเอาคืนยื่นดีเอสไอสอบ2 โครงการยุคหมอวิชัยเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม

นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่าการที่รมว.สาธารณสุขยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่อภ.รับผิดชอบ เป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเปลี่ยนตัว นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ปัจจุบันออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเมื่อผู้บริหารกระทรวงพบว่าเกิดปัญหาขึ้นที่ทำให้โครงการดำเนินไปล่าช้าก็ต้องหาทางแก้ปัญหาภายใน โดยใช้หลักพรหมวิหารธรรมไม่ใช่เอาแต่โพนทะนาผ่านสื่อเพราะลักษณะนี้ไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามเร่งรัดกระบวนการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การจ้างบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก แต่ก็ยังเกิดปัญหาจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างเช่น สภาพพื้นดินก่อสร้างโรงงานมีลักษณะชายเขา เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติซึ่งผู้บริหาร สธ.ขณะนั้นก็รับทราบเป็นอย่างดี

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ยื่นเรื่องตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ของอภ.ในปี 2551 มูลค่า 1,411 ล้านบาท ที่ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่ยังสร้างไม่เสร็จ และโครงการการสำรองวัตถุดิบยาพาราเซตามอล 148 ตัน ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งที่ผ่านมา แม้บอร์ด อภ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการภายในแล้ว แต่แจ้งมาว่าไม่มีหลักฐาน ฉะนั้นการยื่นต่อดีเอสไอเชื่อว่าน่าจะได้ความกระจ่างขึ้น

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการทราบคือ โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีใครรับผิดชอบ ไม่ใช่ชี้แจงว่าโรงงานสร้างไม่เสร็จ ล่าช้ามาถึง 5-6 ปี การสอบสวนต่างๆ คงจะต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้วยว่าการทบทวนการออกแบบนานขนาดนั้นเหมาะสมหรือไม่ อภ.ต้องตอบให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรงงานกลางคันเกิดจากสาเหตุอะไร

สำหรับการส่งคืนวัตถุดิบพาราเซตามอลให้กับโรงงานที่ประเทศจีน หลังตรวจสอบพบว่าไม่มีคุณภาพ พบว่า มีการผลิตยาโดยใช้สารซึ่งไม่ได้มาตรฐานเมื่อมีการตรวจสอบพบก็ยังคงใช้สารดังกล่าวจากบริษัทเดิมอยู่ จึงส่งเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 โดยมี นพ.วิชัย เป็นประธานบอร์ด อภ.ขณะนั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 29 มีนาคม 2556